“คมนาคม” ชง กก.PPP เคาะลงทุนสัมปทาน ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษา (O&M) มอเตอร์เวย์ 2 สาย วงเงินกว่า 1.4 หมื่นล้าน เผยผลศึกษาเสนอรูปแบบ PPP Gross Cost เหมาะสม เหตุรัฐมีความเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนและคุ้มค่ากว่า PPP Net Cost และสามารถบริหารค่าผ่านทาง ป้องกันข้อพิพาทกับเอกชนในอนาคต “อาคม” คาดเปิดประมูลอย่างช้าต้นปี 60
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางการให้เอกชนมีส่วนร่วมดำเนินงานจัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ว่าได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำเสนอรายงานผลการศึกษาเรื่องการให้เอกชนร่วมลงทุนงาน O&M มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันนี้ (15 ก.ย.)
โดยในส่วนของการก่อสร้างงานโยธา กรมทางหลวง (ทล.) ได้เปิดประมูลก่อสร้างแล้วและจะลงนามสัญญาครบทั้งหมดในสิ้นปี 2559 หากงานระบบ O&M ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ PPP จะดำเนินการตามมาตรการ PPP Fast Track ซึ่งจะสามารถประกาศทีโออาร์เปิดประมูลได้ภายในปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560 เพื่อทยอยการเข้าพื้นที่ก่อสร้างงาน O&M ทั้งตัวด่านและระบบจัดเก็บค่าผ่านทางได้โดยสอดคล้องกับการก่อสร้างงานโยธา
ทั้งนี้ งานระบบ O&M มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช วงเงินลงทุนประมาณ 7,965 ล้านบาท สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินลงทุนประมาณ 6,089 ล้านบาท อายุสัมปทาน 30 ปี โดยมีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 36 เดือน หลักการจะทยอยเปิดให้บริการเป็นช่วงๆ ขณะที่ระบบจัดเก็บของมอเตอร์เวย์สายใหม่จะมีในส่วนของระบบอัตโนมัติ M-Pass ที่สามารถใช้งานร่วมกับบัตร Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้
“นโยบายการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รัฐจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการให้บริการและซ่อมบำรุงจะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน กับรูปแบบให้เอกชนลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานและระบบให้บริการต่างๆ เช่นรถไฟฟ้าสีเหลืองและสีชมพู แต่เนื่องจากโครงการมอเตอร์เวย์ รัฐได้ลงทุนก่อสร้างงานโยธาไปแล้ว จึงเปิดร่วมทุนงาน O&M หากให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนทั้งหมด 100% นอกจากทำให้โครงการล่าช้า แล้วผลตอบแทนจะไม่จูงใจเอกชนด้วย” นายอาคมกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า รายงานผลการศึกษวิเคราะห์โครงการ เสนอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนงาน O&M มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี เป็น PPP Gross Cost มีความเหมาะสม โดยเป็นรูปแบบที่รัฐรับความเสี่ยงจากรายได้ค่าผ่านทาง โดยเอกชนจัดเก็บค่าผ่านทางนำส่งให้รัฐ, เอกชนรับความเสี่ยงค่าใช้จ่ายดำเนินงานและบำรุงรักษา โดยเอกชนลงทุนก่อสร้างงานระบบและบำรุงรักษา คิดเป็นมูลค่าของการลงทุนประมาณ 10% สอดคล้องกับที่รัฐลงทุนงานโยธา 90% ซึ่งรัฐยังเป็นเจ้าของรายได้และโครงการ
สามารถกำหนดนโยบายในการจัดเก็บค่าผ่านทางมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และป้องกันการเกิดข้อพิพาทกับเอกชนในอนาคตเกี่ยวกับการกำหนดค่าผ่านทาง การจัดเก็บรายได้และกรณีมีเส้นทางแข่งขัน หรือการชดเชยรายได้ให้เอกชน นอกจากนี้ยังมีความคล่องตัวในการนำรายได้จากค่าผ่านทางไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้เช่น การก่อสร้าง ปรับปรุง โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ ดังนั้นถือว่ารัฐมีความเสี่ยงในการคืนทุนน้อย ผลตอบแทนของรัฐและความคุ้มค่าของเงินสูงกว่า รูปแบบ PPP Net Cost ที่เป็นการให้สัมปทานเอกชนรับความเสี่ยงในการจัดเก็บค่าผ่านทางและแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ