xs
xsm
sm
md
lg

เคาะตั๋วร่วม “บัตรแมงมุม” เริ่ม ม.ค. 60 สั่ง รฟม.ตั้ง BU ชั่วคราวบริหารระยะแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม
คมนาคมเร่งตั๋วร่วม “บัตรแมงมุม” ดีเดย์ ม.ค. 60 นำร่องใช้ได้กับรถไฟฟ้า “สีน้ำเงิน-ม่วง-เขียว-แอร์พอร์ตลิงก์” มอบ รฟม.เป็นแกนนำ ตั้งหน่วยธุรกิจชั่วคราวเพื่อขับเคลื่อนบริการก่อนระหว่างรอจัดตั้งบริษัทร่วมทุนฯ PPP ส่วนตั๋วร่วมทางด่วนกับมอเตอร์เวย์ “Easy Pass-M Pass” ต.ค. 59 เริ่มใช้ใบเดียววิ่งได้ทั้ง 2 โครงข่าย

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า ในการให้บริการระบบตั๋วร่วม บัตรแมงมุม (MANGMOOM) นั้น ที่ประชุมมีมติเร่งรัดให้เริ่มดำเนินการให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค. 2560 สำหรับโครงข่ายรถไฟฟ้า 4 สาย คือ สายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายสีม่วง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นแกนในการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ขึ้นมาเป็นการชั่วคราว เพื่อขับเคลื่อนการให้บริการตั๋วร่วมดังกล่าวได้ในกำหนด โดย รฟม.จะต้องหาพันธมิตรมาร่วมในหน่วยธุรกิจ โดยมีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้บริหารรายได้ (Clearing House) ในการบริหารจัดการ และจะต้องเจรจาร่วมกับผู้ประกอบการรถไฟฟ้าในเรื่องค่าใช้จ่ายและการลดค่าแรกเข้าเมื่อมีการใช้ตั๋วร่วม

ทั้งนี้ เนื่องจากการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมอยู่ระหว่างจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing Company : CTC) ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (Public Private Partnerships : PPP) โดยดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... เพื่อให้การดำเนินงานมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม จึงต้องใช้ระยะเวลานาน ไม่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการเร่งรัดให้เริ่มใช้ระบบตั๋วร่วมเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้แก่ประชาชน และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว จึงต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และบำรุงรักษาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ในระหว่างที่การจัดตั้ง CTC ยังไม่แล้วเสร็จ

“ที่ประชุมฯ จึงได้มอบให้ รฟม.ทำหน้าที่บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมในระยะเริ่มต้น โดยบริหารจัดการในช่วงทดลองระบบ และเจรจาทำความตกลงกับผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชน เกี่ยวกับการปรับปรุงระบบจัดเก็บรายได้ เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะหลายระบบด้วยการใช้บัตรใบเดียว ภายใต้ระบบปฏิบัติการและการบริหารจัดการที่มีความน่าเชื่อถือและมีเสถียรภาพ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้ระบบตั๋วร่วม ภายใต้ชื่อ “บัตรแมงมุม” สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้ามหานครได้ภายในเดือนมกราคม 2560” นายชาติชายกล่าว

พร้อมกันนี้ ได้ติดตามเร่งรัดการให้บริการตั๋วร่วมระหว่างบัตรผ่านทางอัตโนมัติ หรือ M-Pass ของกรมทางหลวง กับบัตร Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยผู้ถือบัตรของ 2 ระบบจะสามารถใช้บริการบนทางหลวงพิเศษ หมายเลข 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี (สายใหม่) และทางหลวงพิเศษ หมายเลข 9 วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก และทางด่วนด้วยบัตรใบเดียวกัน ได้ภายในเดือน ต.ค. 2559 โดยที่ผ่านมาได้มีการทดลองการส่งข้อมูลข้ามโครงข่ายแล้ว แต่อาจจะมีความล่าช้าไปบ้างเนื่องจากมีรายละเอียดในเรื่องการหักภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ไม่เหมือนกัน โดย กทพ.หักVAT ทันทีที่ซื้อบัตรหรือเติมเงิน ซึ่งได้มีธนาคารกรุงไทยเข้ามาเป็นหน่วยกลางหรือ Clearing House ในการบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม ตามแผนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนฯ ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ในส่วนของภาครัฐจะถือหุ้นไม่เกิน 50% โดยจะมี 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ ร.ฟ.ท. ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ สำหรับสัดส่วนที่เหลือจะเจรจากับเอกชนให้มาร่วมทุน คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
               
ซึ่งทั้ง 3 รายจะต้องเสียค่าปรับปรุงระบบสายทางละ 100 ล้านบาท คือ สายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน ซึ่ง BEM ดำเนินการติดตั้งระบบตั๋วร่วมไปแล้ว รถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล รถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์
กำลังโหลดความคิดเห็น