xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ ต.ค.เพิ่ม 0.34% สูงขึ้น 7 เดือนติด “พาณิชย์” ชี้สะท้อนเศรษฐกิจฟื้นตัวคนกล้าใช้จ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เงินเฟ้อเดือน ต.ค.เพิ่มขึ้น 0.34% สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันจากหมวดอาหารและน้ำมันที่เริ่มขยับขึ้น “พาณิชย์” เผยเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนถึงการฟื้นตัว หลังประชาชนเริ่มจับจ่ายใช้สอย ส่วนเป้าทั้งปีคาดเพิ่ม 0.0-1.0%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือน ต.ค. 2559 เท่ากับ 106.85 เพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 0.34% เมื่อเทียบกับ ต.ค. 2558 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันนับจากเดือน มี.ค. 2559 ที่เงินเฟ้อลดลง 0.46% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือน ของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.34% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 0.89% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้น 1.21% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 1.28% ผลไม้สด เพิ่ม 3.52% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 1.51% อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 1.07% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.85% เว้นข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 0.54% ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.02% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 0.34% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.34% หมวดค่ารักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.64% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดี การที่เงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เพราะประชาชนเริ่มจับจ่ายใช้สอยจากการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้านผ่านโครงการประชารัฐและกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีต่อเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายการสินค้า 450 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น 142 รายการ ไม่เปลี่ยนแปลงมีจำนวน 212 รายการ และลดลง 96 รายการ

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สนค.ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2559 ไว้ที่ 0.0-1.0% ภายใต้สมมติฐาน คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2.8-3.8% ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มจากเดิม 30-40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ลดจาก 36-38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยสนับสนุนเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ คือ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น จากอุปสงค์ที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และมาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงยังคงต้องติดตามยังคงเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาด ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากนโยบายปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และรายได้สินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งกระทบรายได้และกำลังซื้อภาคครัวเรือนเกษตรกร

ทางด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน) เดือน ต.ค. 2559 เท่ากับ 106.86 เพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับ ก.ย. 2559 เพิ่มขึ้น 0.74% เมื่อเทียบกับ ต.ค. 2558 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือนสูงขึ้น 0.74% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น