xs
xsm
sm
md
lg

สินค้าหมวดอาหารแพง! ดันเงินเฟ้อ ก.ย.เพิ่ม 0.38% บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เงินเฟ้อ ก.ย.เพิ่มขึ้น 0.38% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน เหตุสินค้าหมวดอาหารปรับตัวสูงขึ้น ทั้งเนื้อสัตว์ ไข่ ผัก ผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารบริโภคในบ้านนอกบ้าน คาดแนวโน้มเดือนต่อไปยังปรับตัวสูงขึ้น แต่ทั้งปีจะอยู่ในเป้า 0.0-1.0% เตรียมปรับตะกร้าสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อใหม่ ลดเหลือ 300 รายการจากเดิม 450 รายการ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ย. 2559 เท่ากับ 106.68 เพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2559 ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 0.38% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 2558 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน นับจากเดือน เม.ย. 2559 ที่เพิ่มขึ้น 0.07% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือนของปี 2559 (ม.ค.-ก.ย.) เพิ่มขึ้น 0.02% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่พลิกกลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558

ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 0.38% มาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.47% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่ม 1.35% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 1.85% ผักสด เพิ่ม 1.61% ผลไม้สด เพิ่ม 6.78% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 1.42% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.43% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 1% นอกบ้านเพิ่ม 1.07% ส่วนข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 0.58%

ขณะที่หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.24% โดยสินค้าสำคัญที่ลดลงยังคงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ลดลง 2.58% ค่าโดยสารสาธารณะ ลด 0.18% การสื่อสาร ลด 0.03% หมวดเคหสถาน ลด 1.16% ส่วนเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.20% การรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.71% การบันเทิง การอ่าน การศึกษา เพิ่ม 0.52% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 13% ตามการปรับขึ้นค่าแสตมป์ยาสูบ

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนต่อๆ ไป คาดว่า จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่ราคานำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และความต้องการเริ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายในการกระตุ้นกำลังซื้อภาคครัวเรือน ที่จะทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น แต่ตัวเลขทั้งปี 2559 ยังคงประเมินที่ 0.0-1.0% บนสมมติฐาน คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จะเติบโตที่ 2.8-3.8% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 35-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะปรับฐานสินค้าที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อใหม่ จากเดิมที่มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 450 ราย โดยจะพิจารณาปรับลดลงเหลือประมาณ 300 รายการ เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด เพราะสินค้าบางรายการ ไม่ควรเก็บ เช่น บานพับ หรือบางรายการเก็บมากไป เช่น ตะปู มีการเก็บหลายขนาดมาก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานวิชาการอื่นๆ เพื่อกำหนดรายการสินค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น