xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ มิ.ย.เพิ่ม 0.38% สูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 “พาณิชย์” คาดครึ่งปีหลังยังเป็นขาขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เงินเฟ้อ มิ.ย.เพิ่มขึ้น 0.38% สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หลังกลุ่มอาหารขยับขึ้นแรง แต่ยอดรวมครึ่งปียังคงลดลง 0.09% “พาณิชย์” ประเมินครึ่งปีหลังยังเป็นแนวโน้มขาขึ้น เตรียมปรับประมาณการอีกครั้งเดือน ส.ค.นี้

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน มิ.ย. 2559 เท่ากับ 107.05 สูงขึ้น 0.38% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. 2558 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับจากเดือน เม.ย. 2559 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.07% และเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา สูงขึ้น 0.03% แต่เงินเฟ้อเฉลี่ยครึ่งปี 2559 (ม.ค.-มิ.ย.) ยังคงลดลง 0.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.38% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 2.80% โดยสินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่ม 3.03% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 3.07% ผักและผลไม้เพิ่ม 12.31% อาหารบริโภคในบ้านเพิ่ม 1.34% หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.94% สินค้าที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ลด 9.10% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก ลด 1.41% ส่วนสินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 13.07%

ทั้งนี้ เมื่อแยกรายการสินค้า 450 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า สินค้าที่ราคาสูงขึ้น 147 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 46.04% ของน้ำหนักรวม โดยสินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น เนื้อหมู เพิ่ม 0.96% ไข่ไก่ เพิ่ม 4.08% มะเขือเทศ เพิ่ม 61.77% น้ำมันพืช เพิ่ม 2.36% กับข้าวสำเร็จรูป เพิ่ม 0.60% ข้าวผัด เพิ่ม 0.10% น้ำยาปรับผ้านุ่ม เพิ่ม 0.10% สินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง 188 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 37.35% ของน้ำหนักรวม และสินค้าราคาลดลง 115 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 16.61% ของน้ำหนักรวม

นายสมเกียรติกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 3 คาดว่ายังคงเป็นขาขึ้น เพราะยังไม่มีปัจจัยอะไรที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มทรงตัว ทำให้ฐานปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยจะมีการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2559 อีกครั้งในช่วงเดือนส.ค.นี้ แต่ขณะนี้ยังคงยืนยันคาดการณ์เฟ้อทั้งปีที่ระดับเดิม คือ ขยายตัว 0.0-1.0% ภายใต้สมมุติฐาน เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.8-3.8% ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ยราคา 30-40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 36-38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยขณะนี้ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเดือน มิ.ย.เฉลี่ยอยู่ที่ 46.25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 35.31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

โดยปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ สถานการณ์ภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาพืชเกษตร และการลงประชามติในกลุ่มสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ซึ่งมีผลทำให้ค่าเงินให้ผันผวน แต่เชื่อว่าไม่น่าจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในการนำเข้าวัตถุดิบสินค้าเท่าใดนัก โดยอาจกระทบต่อภาคการส่งออกที่ผู้ส่งออกต้องตั้งราคาขาย เพราะค่าเงินที่ผันผวนทำให้การตั้งราคาขายทำได้ยากขึ้น

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (เงินเฟ้อพื้นฐาน) ที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออกไป พบว่าในเดือน มิ.ย. 2559 เท่ากับ 106.67 สูงขึ้น 0.80% เทียบกับเดือน มิ.ย. 2559 และสูงขึ้น 0.08% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2559 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยครึ่งปี 2559 สูงขึ้น 0.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น