เงินเฟ้อ มี.ค.ลดลง 0.46% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 เผยน้ำมันยังคงเป็นตัวฉุดสำคัญ แต่สินค้าอื่นเริ่มขยับ ทั้งไข่ นม เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ “สมเกียรติ” คาดเดือน เม.ย. ตัวเลขพลิกมาเป็นบวก หลังน้ำมันเริ่มขยับ ภัยแล้งทำราคาเกษตรพุ่ง
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน มี.ค. 2559 เท่ากับ 105.84 เพิ่มขึ้น 0.21% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.ที่ผ่านมา และลดลง 0.46% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 2558 ซึ่งเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 นับจาก ม.ค. 2558 ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 3 เดือนของปี 2559 (ม.ค.-มี.ค.) ลดลง 0.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ เงินเฟ้อเดือน มี.ค.ที่ลดลง 0.46% เป็นเพราะการลดลงของดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่ลดลง 1.25% โดยเป็นการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิงถึง 16.06% ซึ่งยังคงเป็นตัวฉุดสำคัญ ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ ลด 0.31% การสื่อสาร ลด 0.03% เคหสถาน ลด 0.50% ส่วนเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.45% การรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.78% บันเทิง การอ่าน การศึกษา เพิ่ม 1.16% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 14.43%
ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 0.97% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของไข่และผลิตภัณฑ์นม 2.66% ผักและผลไม้ เพิ่ม 1.51% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่ม 1.59% อาหารบริโภคในบ้านเพิ่ม 0.95% นอกบ้าน เพิ่ม 0.70% ส่วนข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 0.10% เครื่องประกอบอาหาร ลด 0.39%
“เงินเฟ้อเดือน มี.ค. มีแนวโน้มติดลบลดลง และเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. มีสิทธิ์กลับมาเป็นบวก เพราะตอนนี้ตัวเลขค่อยๆ ขึ้นมา และน่าจะเปลี่ยนจากลบเป็นบวกได้ โดยจะบวกจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และสินค้าเกษตรบางรายการที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ราคาสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวดึงเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้น และยังได้รับผลจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล ถ้าคนตอบสนองเยอะ ก็มีผลเยอะ”
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน มี.ค. ที่หักรายการกลุ่มอาหารสดและพลังงานออกเท่ากับ 106.38 เพิ่มขึ้น 0.01% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 0.75% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 2558 ส่วนยอดเฉลี่ย 3 เดือน เพิ่มขึ้น 0.67%
นายสมเกียรติกล่าวว่า สำนักงานฯ ได้คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2559 โดยยังคงยืนยันประมาณการเดิมที่ 0-1% โดยมีสมมติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ 2.8-3.8% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 30-40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36-38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ