เงินเฟ้อ ส.ค.เพิ่มขึ้น 0.29% สูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เหตุราคาสินค้ากลุ่มอาหารแพงขึ้นยกแผง ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ อาหารบริโภคในบ้าน นอกบ้าน แต่ยอดรวม 8 เดือนยังติดลบ 0.03% “พาณิชย์” ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีใหม่ ยังคงเดิมที่ 0.0-1.0%
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ส.ค. 2559 เท่ากับ 106.64 เมื่อเทียบเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ลดลง 0.04% แต่เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2558 สูงขึ้น 0.29% ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันนับจากเดือน เม.ย. 2559 ที่เงินเฟ้อขยายตัว 0.07% และเงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือนของปี 2559 (ม.ค.-ส.ค.) ลดลง 0.03% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน ส.ค.สูงขึ้น 0.29% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 1.88% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่ม 1.88% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 2.16% ผักและผลไม้ เพิ่ม 7.41% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 0.87% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 1.09% อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 1.02% ยกเว้นข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งที่ลดลง 0.52%
ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.59% เป็นผลมาจากน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง 6.02% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก ลดลง 1.32% แต่มีสินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น หมวดยาสูบและแอลกอฮอล์ เพิ่ม 13.09% หมวดการรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.92%
ทั้งนี้ เมื่อแยกรายการสินค้า 450 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่ามีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 153 รายการ ไม่เปลี่ยนมีจำนวน 203 รายการ และราคาลดลง 94 รายการ
นายสมเกียรติกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2559 ใหม่ โดยยังคงประมาณการไว้ที่ 0.0-1.0% ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น 2.8-3.8% โดยได้มีการปรับสมมติฐานในเรื่องของราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบใหม่จากเดิมที่เคยคาดว่าน้ำมันดิบตลาดดูไบจะอยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มเป็น 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนปรับจากคาดการณ์เดิมที่ 36-38 บาทต่อเหรีญสหรัฐ เป็น 35-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
“ได้ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่เดิมช่วง 0.0-1.0% โดยมีปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อทั้งปีเป็นบวกได้ มาจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่จุดสมดุล และความต้องการใช้ที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้สินค้าที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตมีต้นทุนลดลง แต่ก็ต้องดูปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาด และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ย” นายสมเกียรติกล่าว
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (เงินเฟ้อพื้นฐาน) ที่หักรายการสินค้าอาหารสดและพลังงานออก พบว่า เดือน ส.ค. 2559 เท่ากับ 106.80 สูงขึ้น 0.07% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา และสูงขึ้น 0.79% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2558 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 8 เดือนสูงขึ้น 0.74% เทียบกับช่วยเดียวกันของปีที่ผ่านมา