xs
xsm
sm
md
lg

จับตาสัญญาณการขึ้น ดบ.ของเฟด อาจดึงเม็ดเงินไหลออกจากเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โบรกฯ ประเมินหุ้นไทยสัปดาห์นี้น่าจะมีโอกาสปรับขึ้นได้ต่อเนื่อง แต่อาจถูกเทขายช่วงท้ายสัปดาห์จากแรงกดดันปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด คาดดึงเม็ดเงินไหลออกจากเอเชีย พร้อมให้แนวต้านไว้ที่ 1,510-1,515 จุด

นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดลูกค้าส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ เปิดเผยว่า ขณะนี้เหตุการณ์ในประเทศชัดเจน หลังจากนี้ดัชนีหุ้นไทยจะกลับมาถูกกดดันจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือน ธ.ค.2559 ซึ่งจะกดดันให้ผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yeild) สูงขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ส่งผลให้กระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากเอเชีย

อย่างไรก็ตาม คาดว่าดัชนีหุ้นไทยช่วงวันที่ 17-21 ต.ค.นี้ จะปรับขึ้นต่อในช่วงต้นสัปดาห์ไปจนถึงวันพุธ (19 ต.ค.) ก่อนจะอ่อนตัวลงในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังจากมีการแจ้งผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แม้แนวโน้มภาพรวมจะออกมาดีตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ แต่จะเจอแรงขายแบบ sell on fact โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน รวมถึงความกังวลว่าผลประกอบการในไตรมาส 4 จะไม่ดีเท่าไตรมาส 3 ทั้งนี้ ประเมินแนวรับที่ 1,450 จุด ส่วนแนวต้านที่ 1,500-1,510 จุด

ด้าน บล.กสิกรไทย ประเมินว่า ช่วงวันที่ 17-21 ต.ค.นี้ ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,430-1,450 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,490-1,515 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การรายงานการขายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 3/2559 ของจีน รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคาผู้บริโภค และเครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับข้อมูลต่างประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงขายอย่างหนักในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้รับแรงกดดันจากปัจจัยทั้งภายใน และภายนอกประเทศ นอกจากนี้ ข้อมูลการส่งออกของจีนที่ออกมาแย่ ได้สร้างความกังวลต่อสถานะของเศรษฐกิจจีน และกดดันนักลงทุนให้หนีออกจากสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับฟื้นตัวในช่วงปลายสัปดาห์ ตามแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ขณะที่กรอบการเคลื่อนไหวเงินบาทสัปดาห์นี้ คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 34.95-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น