xs
xsm
sm
md
lg

กระแสการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หลังจากในเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 9 ปี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เผชิญความเสี่ยงต่างๆ จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งการดิ่งลงของตลาดหุ้นทั่วโลกอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การร่วงลงของราคาน้ำมัน และการแข็งค่าของดอลลาร์ ส่งผลกดดันทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อีกทั้งความเสี่ยงหลังสหราชอาณาจักรลงประชามติขอแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ซึ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่ส่งผลให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้กระแสการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลับมาอีกครั้ง หลังผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงประธานเฟดออกมาให้ความเห็นในเชิงสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งตลาดแรงงานสหรัฐฯ อยู่ในภาวะแข็งแกร่ง และมีสัญญาณบ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้จึงกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบายบางรายเชื่อว่าเฟดน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยอาจจะปรับขึ้นในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. หรืออย่างน้อยก็ปรับขึ้นก่อนสิ้นปีนี้ โดยเป้าหมายของเฟดมีดังนี้
เป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐ
1.การจ้างงานเต็มที่ โดยหมายความถึงอัตราการว่างงานในระดับที่ต่ำกว่า 5% ในปัจจุบันอัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 4.9% ซึ่งเฟดมีความเห็นว่าตลาดแรงงานใกล้เข้าสู่ภาวะการจ้างงานเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังมีความอ่อนแอในด้านค่าจ้าง
2.อัตราเงินเฟ้อที่ 2% โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงทิศทางของเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเฟดให้ความสำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคล (PCE)

ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index:CPI) คือ ตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการ โดยเฉลี่ยที่ผู้บริโภคจ่ายไปสำหรับกลุ่มสินค้าและบริการที่กำหนด ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความสำคัญต่อการบริโภค จึงถือได้ว่าดัชนี CPI จะเป็นตัวที่ชี้ให้เห็นภาวะของเงินเฟ้อ และยังใช้เป็นเครื่องวัดอำนาจซื้อของผู้บริโภคอีกด้วย
ดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditure:PCE) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้วัดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากดัชนี PCE สามารถสะท้อนระดับราคาสินค้าจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสินค้าทุกประเภท และมีความครอบคลุมกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคที่คำนวณจากการเลือกเฉพาะสินค้าที่มีความสำคัญต่อการบริโภค ทำให้ดัชนี PCE สะท้อนค่าครองชีพ หรือ cost of living ที่แท้จริงได้ดีกว่า CPI
จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเทียบรายปี ถึงแม้ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 2.2% ในเดือน ก.ค. และอยู่เหนือเป้าหมายของเฟด แต่ดัชนี PCE พื้นฐานซึ่งเฟดให้ความสำคัญมากกว่าเพิ่มขึ้นเพียง 1.6% ในเดือน ก.ค. ซึ่งการขยับขึ้นของดัชนี PCE ยังคงห่างจากเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ของเฟด

โดยหากพิจารณาแต่เฉพาะเป้าหมายของเฟดจะพบว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ใกล้บรรลุเป้าหมายของเฟดแล้ว ทั้งการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อเริ่มทรงตัว และมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ในระยะหลังๆ ความเห็นของประธานเฟดสาขาส่วนใหญ่จึงเป็นไปในเชิงสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ถ้อยแถลงล่าสุดของ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ที่ถึงแม้จะไม่ได้บ่งชี้ถึงช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แน่ชัด แต่ก็ระบุว่า เฟดกำลังใกล้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง และเปิดโอกาสสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนหน้า 
กระแสการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดในปัจจุบัน
จากความเห็นของประธานเฟด และรองประธานเฟดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดปรับเพิ่มความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุด บริษัท ซีเอ็มอี กรุ๊ป ระบุว่า ตลาดสัญญาล่วงหน้าได้ปรับตัวรับการคาดการณ์ที่ว่า มีโอกาส 33% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. โดยพุ่งขึ้นจากโอกาส 21% ที่เคยคาดไว้ ก่อนที่ นางเยลเลน และนายฟิชเชอร์ จะแสดงความเห็นในวันศุกร์ที่ผ่านมา  นอกจากนี้ ตลาดคาดด้วยว่า มีโอกาสสูงถึงเกือบ 60% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในเดือน ธ.ค. โดยพุ่งขึ้นจาก 52% ที่เคยคาดไว้ในวันศุกร์ ซึ่งความเป็นไปได้ที่มากขึ้นที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลกดดันราคาทองคำตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในขณะที่วาณิชธนกิจชั้นนำได้ออกมาคาดการณ์เช่นกัน โดยนักวิเคราะห์จากธนาคารบาร์เคลย์ส ออกมาคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ โดยบาร์เคลย์ส มองว่า นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดมีความกังวลต่อความน่าเชื่อถือของเฟด ซึ่งถ้าเฟดรอไปจนถึงการประชุมเดือน ธ.ค. ก็จะเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกเหตุการณ์ย่ำแย่ทางเศรษฐกิจทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าช้าออกไปอีก ซึ่งจะทำให้เฟดไม่เหลือการประชุมในปีนี้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ 1 ครั้งได้ ด้านธนาคารโกลด์แมน แซคส์ ได้ออกมาปรับเพิ่มคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. โดยคาดว่ามีโอกาส  40% จากเดิมที่ 30% และปรับเพิ่มคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ โดยคาดว่ามีโอกาส 80% จากเดิมที่ 75% ซึ่งการปรับเพิ่มคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดกล่าวในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ปัจจัยต่างๆ ที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ประเด็นที่ต้องจับตา
เนื่องจากทองคำมีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้เกิดการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามกระแสเงินทุนที่จะไหลเข้าไปลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์หรือลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของสหรัฐฯ มากขึ้น และส่งผลในเชิงลบต่อราคาทองคำ โดยในวันที่ 2 ก.ย.นี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จะมีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. และตลาดกำลังพุ่งความสนใจว่าข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเป็นอย่างไร  ซึ่งหากมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเกินคาดจะส่งผลให้ตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้  ในทางกลับกันหากการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาดก็อาจทำให้การคาดการณ์ดังกล่าวลดลงเช่นกัน จึงแนะนำให้นักลงทุนต้องจับตาการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้กำหนดกลยุทธ์ในการลงทุนทองคำในระยะต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น