ก.แรงงาน แจง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ “ลูกจ้าง - นายจ้าง” อยู่ได้ ไม่กระทบเศรษฐกิจสังคม ประธานสหภาพแรงงานโทเร ชี้ ดีกว่าไม่ปรับขึ้นเลย เหตุปรับสูงเกินไป นายจ้างอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ตาม
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 59 ให้ปรับขึ้นตามที่สื่อนำเสนอไปแล้วนั้น ว่า หลักการสำคัญในการพิจารณา คือ อัตราค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดที่ลูกจ้างอยู่ได้และนายจ้างอยู่ได้ด้วย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเพื่อไม่ให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาวะครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อัตราการว่างงาน ผลกระทบในภาพรวมที่มีต่อด้านแรงงาน ด้านผู้ประกอบการ ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองโลก ปัจจัยเสี่ยงจากโรคและภัยพิบัติ เป็นต้น
นายสุทธิ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 นั้น มีคณะอนุกรรมการ 3 ชุด คือ อนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ประชุมพิจารณาทบทวนความเหมาะสมอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรอง และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวสอดคล้องกับสูตรคำนวณของประเทศอินโดนีเซีย และ บราซิล โดยนำอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคและผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดมากำหนดเป็นสูตรคำนวณ
นายอดิสร ตันประเสริฐ ประธานสหภาพแรงงานโทเร ไทยแลนด์ ลูกจ้างของบริษัท ไทยโทเรซินเทติคส์ จำกัด (โรงงานกรุงเทพ) กล่าวถึงผลการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ว่า โดยภาพรวมเป็นที่พอใจ แม้ว่าจะปรับขึ้นเล็กน้อย แต่ดีกว่าไม่ปรับขึ้นเลย เพราะถ้าปรับขึ้นสูงมากจะทำให้นายจ้างอยู่ไม่ได้ เมื่อนายจ้างอยู่ไม่ได้ สถานประกอบการจะปิดกิจการลง ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องหาจุดกึ่งกลางเพื่อให้สมดุลกับทั้งสองฝ่าย ค่าจ้างขั้นต่ำจึงมีความสำคัญต่อลูกจ้างและนายจ้างในสถานประกอบการมาก เนื่องจากเป็นแหล่งเงินแหล่งเดียวของคนใช้แรงงานและภาคธุรกิจ ทั้งนี้ รายได้เท่าไหร่ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่ามีเงินเหลือเท่าไหร่ การใช้จ่ายในปัจจุบันจึงต้องจัดทำบัญชี เพื่อรู้ว่าใช้จ่ายเกินความจำเป็นหรือไม่ ขณะเดียวกัน หากมีรายได้น้อยก็ต้องใช้จ่ายแต่พอควร สมฐานะ ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐมีการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือมากขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจช่วยกระตุ้นให้ลูกจ้างได้พัฒนาฝีมือให้สูงขึ้น จะได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งจะเป็นผลดีกับทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่จะทำให้งานมีประสิทธิภาพ
นางหทัยชนก ม่วงโต พนักงานรายวัน บริษัทเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวถึงการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ว่า สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากเมื่อค่าแรงขั้นต่ำขึ้น ลูกจ้างก็จะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ทำให้มีขวัญกำลังใจในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นแล้ว อยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าและบริการที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ให้เพิ่มขึ้นตามค่าแรง ดังนั้น การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจึงต้องมีการวางแผน อาทิ การจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อคำนวณรายรับ รายจ่าย รวมทั้งการวางแผนการใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น รวมทั้งไม่เป็นหนี้นอกระบบ เป็นต้น ส่วนการพัฒนาฝีมือให้สูงขึ้นจะสามารถทำให้มีค่าตอบแทนที่สูงขึ้นนั้น ปัจจุบันสาขาอาชีพที่เข้าสู่การปรับระดับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือยังไม่ได้ครอบคลุมทุกภาคอุตสาหกรรม เช่น สาขาไอที เป็นต้น