“พาณิชย์” จับมือเซ็นทรัล พารากอน จัดนิทรรศการ “อัจฉริยราชา ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพสกนิกรไทย” เชิดชูพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านทรัพย์สินทางปัญญาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมจัดที่อังค์ถัดให้ชาวต่างชาติได้ชื่นชมด้วย
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะจัดนิทรรศการแสดงผลงานทรัพย์สินทางปัญญาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “อัจฉริยราชา ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพสกนิกรไทย” ในวันที่ 28 ต.ค. - 6 พ.ย. 2559 ที่ลานอีเดน 3 ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด และที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ส่วนในต่างจังหวัดจะจัดที่สาขาของห้างเซ็นทรัล เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน และยังเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ประชาชนในการคิดค้นผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังได้กำหนดจัดนิทรรศการ เพื่อเชิดชูผลงานทรัพย์สินทางปัญญาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในสำนักงานของอังค์ถัด ที่เจนีวา ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมจัดงานซึ่งลักษณะงานจะคล้ายกับการจัดแสดงผลงานที่องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ไวโป) เพื่อให้ชาวต่างชาติได้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านทรัพย์สินทางปัญญาด้วย
สำหรับผลงานในด้านสิทธิบัตร พระองค์ได้รับการถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร รวม 11 ผลงาน เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา ฝนหลวง โครงการแกล้งดิน ไบโอดีเซล และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังจลน์ เป็นต้น ปัจจุบันผลงานเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมากมาย
ส่วนผลงานด้านลิขสิทธิ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 79 ผลงาน เป็นผลงานด้านวรรณกรรม 6 เล่ม ได้แก่ 1. หนังสือแนวคิดทฤษฎีใหม่ 2. โครงการทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3. พระมหาชนก 4. นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ 5. ติโต 6. หนังสือแนวคิดทฤษฎีใหม่, ผลงานด้านจิตรกรรม จำนวน 8 ภาพ เช่น ภาพชื่อ “สมเด็จพระราชบิดา” ภาพชื่อ “ทะเลาะ”, ผลงานด้านประติมากรรม 7 ผลงาน ได้แก่ 1. รูปปั้นหญิงเปลือยนั่งคุกเข่า 2. พระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถครึ่งพระองค์ 3. พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. 4. พระพิมพ์ส่วนพระองค์ 5. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ภปร. 6. พระพุทธนวราชบพิตร (ปางมารวิชัย) 7. เหรียญพระมหาชนก, ผลงานด้านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ 10 ภาพ ได้แก่ 1. ตามรอยพระยุคลบาท 2. เรือรบจำลอง 3. คู่ดาว 4. จ้อง 5. สามัคคีสี่พระหัตถ์ 6. ในอ้อมพระกร 7. สงบ 8. พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม 9. น้ำท่วม 10. เส้นสุนทรีย์
ขณะที่ผลงานด้านดนตรีกรรม มีจำนวน 48 เพลง ได้แก่ 1. เพลงแสงเทียน 2. เพลงยามเย็น 3. เพลงสายฝน 4. เพลงใกล้รุ่ง 5. เพลงชะตาชีวิต 6. เพลงดวงใจกับความรัก 7. เพลงราชวัลลภ 8. เพลงอาทิตย์อับแสง 9. เพลงเทวาพาคู่ฝัน 10. เพลงคำหวาน 11. เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ 12. เพลงแก้วตาขวัญใจ 13. เพลงพรปีใหม่ 14. เพลงรักคืนเรือน 15. เพลงยามค่ำ 16. เพลงยิ้มสู้ 17. เพลงธงไชยเฉลิมพล 18. เพลงเมื่อโสมส่อง 19. เพลงลมหนาว 20.เพลงศุกร์สัญลักษณ์
21. เพลง Oh I Say 2. เพลง Can’t You Ever See 23. เพลง Lay Kram Goes Dixie 24. เพลงค่ำแล้ว 25.เพลงสายลม 26. เพลงไกลกังวล เกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย 27. เพลงแสงเดือน 28. เพลงฝัน เพลินภูพิงค์ 29. เพลงราชนาวิกโยธิน 30. เพลงภิรมย์รัก Kinari Suite : A Love Story 31. เพลง Kinari Suit : Nature Waltz 32. เพลง Kinari Suite : The Hunter 33. เพลง Kinari Suite: Kinari Waltz 34. เพลงแผ่นดินของเรา 35. เพลงพระมหามงคล 36. เพลงธรรมศาสตร์ 37. เพลงในดวงใจนิรันดร์ 38. เพลงเตือนใจ 39. เพลงไร้จันทร์ ไร้เดือน 40. เพลงเกาะในฝัน
41. เพลงแว่ว 42. เพลงเกษตรศาสตร์ 43. เพลงความฝันอันสูงสุด 44. เพลงเราสู้ 45. เพลง เรา-เหล่าราบ 21 46. เพลง Blues for Uthit 47. เพลงรัก 48. เพลงเมนูไข่
ทางด้านด้านเครื่องหมายการค้ายังไม่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในพระปรมาภิไธย แต่ทรงพระราชทานให้ บริษัท สุวรรณชาด จำกัด บริษัท มงคลชัยพัฒนา จำกัด มูลนิธิโครงการหลวง และบริษัท ดอยคำ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมทั้งสิ้น 15 คำขอ ได้แก่ 1. พระราชทานให้บริษัท สุวรรณชาด จำกัด จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ได้แก่ เครื่องหมายการค้าสุวรรณชาด 1 คำขอ เครื่องหมายการค้าทองแดง 1 คำขอ เครื่องหมายการค้าโกลเด้นเพลส 2 คำขอ 2. พระราชทานให้บริษัท มงคลชัยพัฒนา จำกัด จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ได้แก่ เครื่องหมายการค้า ธรรมชาติ 5 คำขอ และเครื่องหมายการค้าปันสุข 3 คำขอ
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้จัดส่งการ์ตูนสั้นเฉลิมพระเกียรติ “Creative King” และแอนิเมชันชุดพิเศษ “ฟ้าทอฝัน” ไปยังสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เพื่อให้นำไปออกอากาศ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ด้วย