xs
xsm
sm
md
lg

พพ.น้อมนำแนวพระราชดำริพัฒนาพลังงานทดแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สืบสานแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หนุนพลังงานทดแทน สร้างนวัตกรรมพลังงานสู่ชุมชนสร้างรายได้หนุนใช้โซลาร์อบแห้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรควัก 19 ล้านบาทหนุนผู้ประกอบการ 50 รายเข้าร่วม พร้อมหนุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 5 แห่งคาดเสร็จปลายปี 2560

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า การดำเนินงานของ พพ.ได้น้อมนำแนวทางพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสอดรับกับนโยบาย Energy 4.0 ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน

“พพ.มุ่งมั่นการดำเนินงานสืบสานแนวทางพระราชดำริของพระองค์ โดยส่งเสริมให้เกิดโครงการด้านพลังงานทดแทนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการผลิตเอทานอล และไบโอดีเซล เพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้า” นายประพนธ์กล่าว

นอกจากนี้ พพ.ได้มีการส่งเสริมในรูปแบบของโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับครัวเรือน สนับสนุนการทำอุปกรณ์อบแห้งสำหรับพืชผลการเกษตร เช่น การทำโดมที่ใช้เทคโนโลยีโซล่าร์สำหรับอบแห้งผลิตภัณฑ์การเกษตร เช่น ลำไยอบแห้ง พริกอบแห้ง และกล้วยตาก เป็นต้น เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าการ ตากแห้งแบบเดิมถึง 10 เท่า ซึ่ง พพ.ได้รับงบประมาณมาดำเนินการแล้ว 19 ล้านบาท โดยจะคัดเลือกผู้ร่วมโครงการ 50 ราย โดย พพ.จะให้เงินสนับสนุน 35% ของต้นทุนทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 65% ผู้ร่วมโครงการจะออกเอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์การรับสมัครผู้ร่วมโครงการ

ส่วนระดับที่ 2 คือ ระดับชุมชน พพ.จะให้การสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 30-60 กิโลวัตต์ เพราะพบว่ายังมีหลายอำเภอที่ขาดแคลนไฟฟ้าใช้ ซึ่วเบื้องต้น พพ.จะดำเนินการใน 5 แห่ง ได้แก่ อ.ผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน, อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน, อ.ท่าสองยาง จ.ตาก, อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โครงการนี้ พพ.ได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 68 ล้านบาท คาดว่าจะสนับสนุนเฉลี่ยแห่งละ 17-18 ล้านบาท เมื่อสร้างเสร็จจะมอบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแลต่อไปเพื่อความยั่งยืน โดยคาดว่าจะสร้างเสร็จประมาณปลายปี 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น