รอยเตอร์ - พม่ากำลังดำเนินการผลักดันที่จะปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนจากต่างชาติใหม่ในสัปดาห์นี้ ในขณะที่อองซานซูจี พยายามที่จะดึงดูดกิจการต่างชาติเข้ามาในประเทศให้มากขึ้นเพื่อสร้างงาน และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่ของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้
ซูจี มีกำหนดพบหารือกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในวันพุธ (14) และอาจมองหาเงื่อนไขการค้าที่ดีขึ้น และการคลายมาตรการคว่ำบาตรที่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการลงทุนจากต่างชาติ
การอนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ๆ ได้หยุดชะงักไป ตั้งแต่ซูจี เข้าครองอำนาจในเดือน เม.ย. หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ที่ธุรกิจและนักลงทุนบางส่วนได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงความล้มเหลวของซูจี ในการให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก และตลอดระยะเวลาเกือบ 6 เดือนของการบริหารประเทศ รัฐบาลของซูจี ให้ข้อมูลด้านนโยบายทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย และคลุมเครือ
สำหรับการอนุมัติโครงการการลงทุนจากต่างชาติในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1,800 ล้านดอลลาร์ ตามที่สื่อของทางการรายงาน ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขในช่วงปีงบประมาณ 2557-2558 ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกึ่งพลเรือน มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 8,000 ล้านดอลลาร์
อ่อง นาย อู เลขาธิการของคณะกรรมการการลงทุนพม่าที่อนุมัติโครงการสำคัญต่างๆ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้การอนุมัติโครงการเริ่มต้นช้าในปีนี้ แต่ยืนยันว่าคณะกรรมการมีเป้าหมายที่จะอนุมัติการลงทุนมูลค่ารวม 6,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปีงบประมาณ 2559-2560
“หากทุกอย่างดำเนินไปด้วยดีตามที่เราคาดการณ์คือ เราจะมีกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ที่เน้นในทางปฏิบัติมากขึ้น และดึงดูดใจมากขึ้นก่อนสิ้นปี 2559 หรือเริ่มต้นปี 2560” อ่อง นาย อู กล่าว
เจ้าหน้าที่ด้านการวางแผนและการคลัง ระบุว่า กฎหมายการลงทุนพม่าฉบับใหม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีกอ วิน แล้ว และจะยื่นต่อรัฐสภาภายในสัปดาห์นี้
หม่อง หม่อง วิน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการวางแผนและการคลัง เผยต่อรอยเตอร์เมื่อวันอังคาร (13) ว่า กฎหมายใหม่ที่กำกับดูแลทั้งการลงทุนภายในประเทศ และต่างประเทศจะปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน
“มีจุดที่น่าสนใจมากขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติ” หม่อง หม่อง วิน กล่าวถึงกฎหมายใหม่ที่จะขยายการเข้าถึงสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว และการคลายข้อจำกัดการโอนเงิน
สัญญาเช่าระยะยาวในปัจจุบันจำกัดให้แก่นักลงทุนรายใหญ่ที่มีใบอนุญาตจากคณะกรรมการการลงทุน แต่กฎหมายใหม่คาดว่าจะทำให้บริษัทขนาดเล็กสามารถรักษาระยะเวลาเช่าได้ง่ายขึ้น รวมทั้งช่วยให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างนักลงทุนท้องถิ่น และต่างชาติ จากที่ก่อนหน้านี้ มีนักลงทุนต่างชาติร้องเรียนถึงมาตรการคุ้มครองที่เอื้อต่อบริษัทท้องถิ่น ที่เป็นมาตรการที่มีมาตั้งแต่สมัยการปกครองของทหาร และการคลายข้อจำกัดการโอนควรทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับบริษัทระหว่างประเทศที่จะส่งผลกำไรกลับสู่ประเทศ
และในความต้องการที่จะควบคุมการลงทุน รัฐบาลใหม่กำหนดให้คณะกรรมการการลงทุนพม่าอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของกระทรวงวางแผนและการคลัง
“สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในพม่า ผู้นำระดับสูงจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมธุรกิจ ส่งเสริมการลงทุน และส่งเสริมประเทศ” อ่อง นาย อู กล่าว
ภายใต้กฎหมายใหม่ การลดหย่อนภาษีจะมอบให้แก่โครงการที่มีวัตถุประสงค์สนับสนุนการพัฒนาประเทศในภาคส่วนที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา และการพัฒนาตามสัดส่วนของรัฐและเขตต่างๆ
อ่อง นาย อู ระบุว่า รัฐบาล และคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาว่าภาคส่วนใดที่จะได้รับการส่งเสริมให้มีการลงทุน
อย่างไรก็ตาม จากนโยบายด้านเศรษฐกิจ 12 ข้อ ที่รัฐบาลออกเมื่อเดือน ก.ค. ได้ย้ำถึงการสร้างงาน การพัฒนาพื้นที่ชนบทที่เป็นพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น การขาดแคลนไฟฟ้า.