xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา” จ่อคลายคว่ำบาตรเพิ่มรับ “ซูจี” เยือนทำเนียบขาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มเอเอฟพี ปี 2555  อองซานซูจี หารือกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ห้องทำงานรูปไข่ ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อครั้งเดินทางเยือนสหรัฐฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน และในวันที่ 14 ก.ย. นี้ ซูจีจะเดินทางเยือนสหรัฐฯ และพบหารือกับผู้นำสหรัฐฯ อีกครั้ง ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ. -- Agence France-Presse/Brandan Smialowski.</font></b>

รอยเตอร์ - สหรัฐฯ กำลังพิจารณาการผ่อนคลายเพิ่มเติม หรือยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อพม่า ในช่วงเวลาที่นางอองซานซูจี เยือนทำเนียบขาวในเดือนนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยต่อรอยเตอร์

คาดว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะตัดสินใจขยายขอบเขตการคลายมาตรการคว่ำบาตรหลังการปรึกษาหารือระหว่างซูจี และฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ที่จะประเมินถึงความต้องการของซูจี ที่จะให้วอชิงตันคลายหมุดที่ขันไว้กับกองทัพพม่าซึ่งยังคงทรงอำนาจ

โอบามา กำลังร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ในจีน และจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกในลาว กลางสัปดาห์นี้ ที่ซูจี อาจไปปรากฎตัวที่นั่น และตามกำหนด ซูจี จะเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันในวันที่ 14-15 ก.ย. เพื่อพบหารือกับโอบามา รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน สมาชิกสภาคองเกรส และผู้นำทางธุรกิจ

ซูจี ช่วยโน้มน้าวตะวันตกให้กำหนดบทลงโทษในระหว่างที่เธอถูกจำคุกในฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน และในเวลานี้ ซูจี พยายามที่จะปรับสมดุลเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงรางวัลทางเศรษฐกิจต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังรักษาแรงกดดันต่อบรรดานายพลเพื่อให้การปฏิรูปประเทศดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

การเปิดกว้างต่อพม่าของโอบามา ที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนำโดยพลเรือน ถูกมองว่า เป็นหนึ่งในความสำเร็จด้านนโยบายต่างประเทศของผู้นำสหรัฐฯ ที่เหลือเวลาอยู่ในตำแหน่งน้อยกว่า 5 เดือน

การเยือนวอชิงตันของซูจีจะเป็นการเยือนครั้งแรกนับตั้งแต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) ตบเท้าเข้าสู่อำนาจหลังการเลือกตั้งเดือน พ.ย.2558

เบน โรดส์ รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของโอบามา ได้พบกับเจ้าหน้าที่สภาในสัปดาห์นี้ และกล่าวว่า ประธานาธิบดีกำลังพิจารณาปรับลด หรือยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมด เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลายคนกล่าว แต่ทำเนียบขาวปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้

วอชิงตัน กระตือรือร้นที่จะขยายความสัมพันธ์กับพม่าเพื่อรับมือจีนที่ขยายอิทธิพลในเอเชีย และช่วยให้นักธุรกิจสหรัฐฯ เข้าใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาดชายขอบแห่งสุดท้ายแห่งหนึ่งของโลก ที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วแต่ยังด้อยพัฒนา

มาตรการที่ยังเหลืออยู่ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ จำกัดการดำเนินธุรกิจกับกิจการที่ดำเนินการโดยทหาร รวมทั้งห้ามนำเข้าหยกและอัญมณีของพม่า และบุคคลที่ถูกขึ้นบัญชีดำ
.
<br><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มเอเอฟพีเดือนพ.ย. 2557 บารัค โอบามา ยื่นมือไปสัมผัสมือของอองซานซูจี หลังแถลงข่าวร่วมกันที่บ้านพักของซูจีในนครย่างกุ้ง โดยผู้นำสหรัฐฯ ได้แสดงการสนับสนุนซูจี ก่อนที่พม่าจะจัดการเลือกตั้งในปีต่อมา หลังจากพรรคของซูจีชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน ฝ่ายบริหารของโอบามาได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัทและธนาคารของพม่าที่รัฐเป็นเจ้าของ 10 แห่ง ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยครั้งประวัติศาสตร์ของพม่า. -- Agence France-Presse/Mandel Ngan.</font></b>
.
โอบามา ได้คลายมาตรการบางส่วนต่อพม่ามาแล้วหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงการยกเลิกในเดือน พ.ค. กับธนาคารที่รัฐเป็นเจ้าของออกจากบัญชีดำ และยกเลิกมาตรการต่อบริษัทเหมืองแร่และไม้ที่รัฐเป็นเจ้าของ แต่ยังมีข้อจำกัดอีกหลายประการที่ถูกต่ออายุเพิ่มอีก 1 ปี

“เรากำลังมองหาสิ่งที่เกี่ยวข้องต่อการค้า การลงทุน และการพาณิชย์ และพยายามที่จะดูว่าอะไรที่เราสามารถทำแล้วช่วยปรับปรุงพัฒนาบรรยากาศการลงทุนในพม่า” แหล่งข่าวในรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

สิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงการเพิ่มพม่าเข้าสู่โครงการระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ที่ยกเว้นภาษีให้แก่สินค้าที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศยากจน

คำถามสำคัญคือ มากน้อยเพียงใดที่ซูจีต้องการให้วอชิงตันดำเนินการในการคลายมาตรการกดดันต่อทหาร ที่ยังคงกุมอำนาจในการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างขึ้น เช่นเดียวกับฐานอำนาจทางเศรษฐกิจ

“หากผู้บังคับบัญชาของเราอยู่ในห้องกับอองซานซูจี และเธอกล่าวว่า เธอต้องการให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด มันยากที่จะจินตนาการว่า พวกเขาจะพูดคำว่าไม่” แหล่งข่าวรัฐสภาสหรัฐฯ กล่าว หลังถูกถามว่า สมาชิกสภาคองเกรสจะเห็นด้วยต่อการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ หรือไม่

ซูจี ถูกขัดขวางจากการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญที่อดีตรัฐบาลเผด็จการทหารร่างขึ้น เพราะบุตรชาย 2 คนของ ซูจี เป็นชาวต่างชาติ แต่ซูจี ทำหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้นำรัฐบาลที่แท้จริงของพม่า

ซูจี และพรรค NLD ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ดำเนินการให้มากพอที่จะช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกกดขี่ แต่ผู้สนับสนุนการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนโต้แย้งว่าการคลายบทลงโทษต่อพม่า จะช่วยพัฒนาสิทธิมนุษชนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ฮิวแมนไรท์วอช เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงมาตรการคว่ำบาตรต่อไปเพื่อป้องปรามทหารไม่ให้หยุดชะงักจากการปฏิรูปประชาธิปไตย.
กำลังโหลดความคิดเห็น