xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้การเลือกตั้งสหรัฐฯ กระทบอุตฯ ส่งออกไทยปี 2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองความเสี่ยงการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ กระทบอุตสาหกรรมส่งออกไทย ชี้ไม่ว่าใครจะได้เป็นผู้นำประเทศสหรัฐฯ คนใหม่ ก็อาจจะต้องทำงานร่วมกับสภาคองเกรสที่เสียงส่วนใหญ่มาจากคนละพรรคการเมือง สะท้อนว่านโยบายการบริหารประเทศไม่ว่าจะเป็นของ นางฮิลลารี คลินตัน หรือนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะถูกปรับเป็นลูกผสมระหว่าง 2 ขั้วพรรคการเมือง อันจะมีผลต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในอนาคต ผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจ การปกป้องการค้าของสหรัฐฯ และกรอบการค้าเสรี TPP ที่อาจถูกทบทวนเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2560 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 ซึ่งจะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ในกรณีทรัมป์ เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่า และเงินดอลลาร์อาจจะไม่แข็งค่า ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเอื้อให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2560 เติบโตที่ร้อยละ 1.3-2.5 หรือมีมูลค่าราว 24,680-24,980 ล้านดอลลาร์ ต่อเนื่องจากที่คาดว่าจะขยายตัวราวร้อยละ 1.3 ในปี 2559

อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ใกล้เข้ามาทุกที โดยผลโพลชี้ว่า คะแนนนิยมของนายโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน เบียดขึ้นมาสูสีกับนางฮิลลารี คลินตัน แห่งพรรคเดโมแครต สร้างความอ่อนไหวต่อตลาดการเงิน สะท้อนความเปราะบางของตลาดการเงินต่อการเข้ามามีบทบาทบริหารประเทศของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งก็ต้องรอบทสรุปที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการค้ากับต่างประเทศรวมถึงกับไทย มีดังนี้

1.กรณีที่นางฮิลลารี คลินตัน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี : เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนางฮิลลารี คลินตัน มีเสถียรภาพมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการตอบรับในเชิงบวกของตลาดเงินตลาดทุน และผลบวกจากนโยบายเศรษฐกิจ ที่เพิ่มการเก็บภาษีเงินได้ผู้มีรายได้สูงควบคู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เมื่อหักลบกันแล้วสามารถลดภาระภาคการคลังไปได้พร้อมกัน รวมถึงการปรับเพิ่มรายได้ขั้นต่ำช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศในระยะสั้น แม้ว่าระยะต่อไปอาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิต แต่ในท้ายที่สุดแล้วผลบวกที่เกิดขึ้นน่าจะมากพอที่จะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างกับกรณีของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กระตุ้นการบริโภคด้วยการลดภาษีเงินได้ และเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานล้วนฉุดให้ฐานะการคลังมีความน่ากังวลมากขึ้น และเมื่อรวมกับการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ อย่างสุดขั้ว ยิ่งทวีแรงกดดันต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกทางหนึ่ง ประเด็นสำคัญ ได้แก่

2.กรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง : การค้ากับต่างประเทศ และการค้ากับไทยผกผันตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เพียงกระทบการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ แต่จะส่งผลซ้ำเติมการส่งออกของไทยในภาพรวมมากขึ้นอีกทางหนึ่ง จากมาตรการกีดกันทางการค้าแบบสุดโต่งกับสินค้าจากจีน และเม็กซิโก ที่ต่างก็พึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 18 และร้อยละ 81 ตามลำดับ การกีดกันดังกล่าวส่งผลกระทบผ่านห่วงโซ่การผลิตมายังธุรกิจไทย โดยในกรณีนี้เองสินค้าส่งออกของไทยที่ไปยังตลาดจีนก็มีความเสี่ยงจะได้ผลกระทบมากขึ้น จากที่ในช่วงเวลานี้ก็ถูกฉุดจากเศรษฐกิจจีนที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลง

3.นโยบายของทั้งคลินตัน และทรัมป์ ต่างมีผลให้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) เปลี่ยนไปจากที่ผ่านมา อาจล่าช้าออกไปหรือยกเลิก ซึ่งในประเด็นนี้นับว่าช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจไทยสามารถปรับกลยุทธ์เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า อาหาร เป็นต้น ซึ่งในกรณีของนางฮิลลารี คลินตัน อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบ TPP ให้เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจสหรัฐฯ มากขึ้น จึงอาจต้องใช้เวลาในการเจรจากับประเทศสมาชิก ทำให้ไทยมีเวลาทบทวนการเข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว ขณะที่ในกรณีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจยกเลิกการจัดทำ TPP เพราะมีแนวทางในการปกป้องการค้าของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน

“ฐานเสียงในสภาคองเกรส...ชี้ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ”

ตัวแปรสำคัญของการนำนโยบายของผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมาปรับใช้นั้นอยู่ที่การกุมฐานเสียงในสภาคองเกรสได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีคนใหม่อาจต้องทำงานร่วมกับสภาคองเกรสที่เสียงส่วนใหญ่มาจากคนละพรรคการเมือง ทำให้นโยบายที่หาเสียงไว้ไม่สามารถผลักดันได้ทั้งหมด ดังนั้น ผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขึ้นอยู่กับการผลักดันนโยบายการบริหารประเทศของทางการสหรัฐฯ เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกของการบริหารประเทศ มาตรการเศรษฐกิจที่ถูกหยิบมาใช้ก็อาจยังไม่ปรากฏผลสู่เศรษฐกิจได้ชัดเจนนัก ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2560 จะยังคงมาจากแรงส่งของการบริโภคที่เป็นภาพต่อเนื่องจากปีนี้ ตลอดจนส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้กรอบเงื่อนไข ดังนี้

ในกรณีที่นางฮิลลารี คลินตัน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี นโยบายต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไปและไม่น่าจะฉีกออกจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากนัก ผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางเศรษฐกิจหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2560 น่าจะเติบโตร้อยละ 2.2 ดีขึ้นจากที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 1.6 ในปี 2559 ส่งผลย้อนกลับมาผลักดันให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2560 ขยายตัวราวร้อยละ 2.5 ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าหากประชาชนชาวอเมริกันตัดสินใจเลือกนายโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจต่างไปจากที่เป็นอยู่ ธุรกิจไทยคงต้องเตรียมรับมือต่อความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะต่อไป โดยเฉพาะการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าร้อยละ 35 และร้อยละ 45 เพื่อกีดกันทางการค้ากับเม็กซิโก และจีน ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบในวงกว้าง ขณะเดียวกัน ก็กระทบต่อสหรัฐฯ ที่ก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าประเทศดังกล่าวถึงร้อยละ 34.7 ของการนำเข้าทั้งหมด ผลักดันเงินเฟ้อในประเทศปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น อาจทำให้เฟดจำเป็นต้องชั่งน้ำหนัก และเลื่อนกรอบเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการเกิดข้อพิพาททางการค้าโดยเฉพาะกับจีน อาจทำให้นักลงทุนปรับลดการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ อันจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ ไม่แข็งค่า หรือในทางตรงข้ามอาจจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก พร้อมๆ กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่อาจไต่ระดับสูงขึ้น

นอกจากนี้ กว่าที่นโยบายด้านเศรษฐกิจจะผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส ก็คงจะไม่ง่ายเช่นกัน โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจต้องลดความเข้มข้นของนโยบายลงมาบางส่วนเพื่อโน้มน้าวเสียงในสภาฯ ซึ่งแผนงานที่น่าจะเผชิญข้อจำกัดมากขึ้นก็คือ มาตรการลดภาษีเงินได้ ดังนั้น บทสรุปของนโยบายที่จะถูกนำมาปรับใช้จึงน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 หรือไม่ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รุนแรงนักในช่วงปีแรก โดยประเมินว่า แรงกดดันของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เปราะบางมากขึ้นนับจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2560 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.7 ซึ่งในท้ายที่สุดย่อมส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2560 อย่างยากจะหลีกเลี่ยง โดยอาจเติบโตอยู่ที่ราวร้อยละ 1.3 และหากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถดำเนินการได้ใกล้เคียงกับที่หาเสียงไว้ก็อาจฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ลดลงต่ำกว่ากรอบคาดการณ์ที่ประเมินไว้นี้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2560 น่าจะมีมูลค่า 24,680-24,980 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวในกรอบร้อยละ 1.3-2.5 ต่อเนื่องจากปี 2559 ที่คาดว่าจะขยายตัวราวร้อยละ 1.3 (ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.55 YoY) สำหรับไทยแล้ว สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้พยุงการส่งออกของไทยอันดับ 1 (รายประเทศ) ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 11.4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยกลุ่มสินค้าที่น่าจะขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ เป็นต้น ท่ามกลางการอ่อนแรงของตลาดหลักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น หรืออาเซียน สิ่งที่ธุรกิจไทยต้องเตรียมรับมือต่อโจทย์เฉพาะหน้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2560 คือ 1) รับมือต่อพัฒนาการด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หรือในอีกด้านหนึ่งเงินบาทอ่อนค่าในกรณีฮิลลารี แม้จะเอื้อต่อการส่งออกของไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบด้านราคา แต่อีกด้านก็ส่งผลลบต่อธุรกิจไทยที่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมีต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น หรือหากเป็นกรณีทรัมป์ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2560 อาจจะขยายตัวน้อยกว่า และเฟดอาจต้องชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเงินดอลลาร์อาจไม่แข็งค่า หรืออ่อนค่าลงเพราะนักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนว่าเงินบาทอาจผันผวน 2) โจทย์ด้านคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้า ที่ไม่ว่าอย่างไรธุรกิจไทยก็ต้องเดินเข้าสู่เส้นทางนี้เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี และเตรียมพร้อมสำหรับกรณีสิทธิทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized Scheme of Preferences : GSP) ที่อาจสิ้นสุดลงในปี 2560 ทำให้หลังจากนั้นสินค้าไทยอาจไม่มีแต้มต่อใดในการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ แม้ในเบื้องต้น จะยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรง การทำธุรกิจในระยะต่อไปจึงควรพิจารณาเลือกฐานการผลิตที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ตลอดจนการยกระดับการผลิตไปอีกขั้น และสร้างมาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาภาระการแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ คงต้องติดตาม และเตรียมรับมือต่อผลทางอ้อมผ่านนโยบายด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะหันไปปกป้องทางการค้ามากขึ้น หรือแม้แต่ TPP ที่ยังต้องรอดูว่าจะมีบทสรุปแบบใด ตลอดจนนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อการค้าการลงทุนระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น