ราคาทองคำตั้งแต่ต้นปีมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกรกฎาคม ราคาทดสอบระดับสูงสุดของปี โซน 1,374 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากนั้น ในช่วงเดือนสิงหาคม และกันยายน ราคาพยายามทดสอบแนวต้านดังกล่าวแต่ไม่สามารถผ่านได้ ทำให้ราคาทองคำกลับมาเคลื่อนไหวในลักษณะแกว่งตัวออกด้านข้างแบบ Sideway จนต้นเดือนตุลาคม เกิดแรงขายกดดันให้ราคาทองคำหลุดกรอบราคาด้านล่างบริเวณ 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้แนวโน้มระยะสั้นราคามีแนวโน้มเปลี่ยนมาเป็นทิศทางขาลง (ระยะสั้น) อย่างไรก็ตาม โดยภาพการเคลื่อนไหวของราคาในระยะยาวยังคงเป็นทิศทางขาขึ้น จึงเป็นประเมินว่า การอ่อนตัวลงในระยะสั้นเป็นการปรับฐานราคาเพื่อสะสมแรงซื้ออีกครั้ง โดยสรุปการเคลื่อนไหว และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นต่อราคาทองคำในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2016 ดังนี้
ไตรมาส 3/2016
ราคาทองคำในไตรมาส 3 ของปีนี้ ถึงแม้จะไม่ได้เคลื่อนไหวหวือหวาเท่า 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ แต่จะเห็นได้ว่าตลอดไตรมาส 3 ของปี 2016 ราคาทองคำสามารถทรงตัวอยู่เหนือระดับ 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้
โดยปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ราคาทองคำทรงตัวอยู่ในระดับสูง ได้แก่ การที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 3 เสียง ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วง 0.25-0.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม แม้เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ย แต่แถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ อีกทั้ง นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด กล่าวหลังสิ้นสุดการประชุมว่า ตนคาดหวังที่จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า แถลงการณ์ของเฟดบ่งชี้การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน ธ.ค. ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายในปีนี้ ขณะที่เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในเดือน พ.ย. เนื่องจากไม่ต้องการส่งผลกระทบก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พ.ย.
ขณะที่อีกปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อราคาทองคำ ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย.นี้ โดยสหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 ของโลก ไม่ว่าจะทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง สิ่งใดที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดั้งนั้น การเลือกตั้งผู้นำของสหรัฐฯ คนใหม่จึงเป็นสิ่งที่นานาประเทศให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ คู่ชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ได้แก่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีวัย 69 ปี และนางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต
ด้านผลการสำรวจคะแนนความนิยมของทั้งทรัมป์ และคลินตัน จากชาวอเมริกันยังคงสูสี และจากความเป็นไปได้ที่ทรัมป์ อาจกลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ทำให้นักวิเคราะห์จากต่างประเทศล้วนแต่มีความเห็นว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดี และทรัมป์ จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนราคาทองคำให้ปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2016 โดยเมื่อพิจารณาในภาพรวมนโยบายของนายทรัมป์ จะทำให้สหรัฐฯ ถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศจะลดลง และเมื่อประกอบกับรายจ่ายของประเทศที่มากขึ้น อัตราการเติบโต และความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ จะลดลงไปอย่างมาก
ราคาทองคำจะเป็นอย่างไรในไตรมาส 4/2016
ถึงแม้ว่าราคาทองคำจะมีการอ่อนตัวลง แต่หากราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวเหนือกรอบราคาบริเวณ 1,210-1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ จะแสดงให้เห็นว่าราคาทองคำสามารถรักษาแนวโน้มขาขึ้นในระยะยาวไว้ได้ ขณะที่หากราคาสามารถยืนเหนือโซนบริเวณ 1,250-1,245 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ประเมินว่า การอ่อนตัวลงของราคาทองคำเป็นเพียงการพักฐานของราคาหลังจากช่วงก่อนหน้าราคาทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยหลักๆ ที่จะส่งผลต่อราคาทองคำ ได้แก่ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน เป็นหนึ่งความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจหนุนราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย อีกทั้งการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดเป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตามเช่นกัน หากเฟดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ตามคาด ก็อาจเป็นการกดดันราคาทองคำในช่วงปลายปีได้ ในทางกลับกัน หากมีความเสี่ยงที่ส่งผลให้เฟดตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนธันวาคม ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนราคาทองคำในปี 2017 นักลงทุนจึงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด