คุณมณฑล จุนชยะ
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ
monthol.j@one-asset.com
ภาวะการลงทุนในช่วงนี้อาจจะเทียบได้กับภาวะที่คลื่นลมสงบ หลายเรื่องเริ่มคลายความกังวลลงไป เราลองมาไล่เรียงกันดูว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีพัฒนาการเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มจาก เรื่องของประชามติ ซึ่งผลที่ได้มีความชัดเจน มีเงื่อนไขและกรอบเวลาที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งได้ในอีก 14-16 เดือน นั่นหมายความว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองเริ่มคลายตัวลง เรื่องถัดมาเป็นเรื่องของวาทกรรม เริ่มจากหนึ่งในคณะกรรมการของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีถ้อยแถลงเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน ส่งผลให้ตลาดการเงินผัวผวนไปทั่วโลก อย่างไรก็ดี จากรายงานการประชุมนโยบายการเงินล่าสุด (รอบวันที่ 26-27 ก.ค.) ก็ได้รับการยืนยันว่ายังไม่ใช่ในเร็ววันนี้ เพราะอาจจะต้องดูเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และผลกระทบจากการตัดสินใจถอนตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (BREXIT) ให้ชัดเจนขึ้น จากความกังวลดังกล่าวที่คลี่คลายลง ได้ส่งผลบวกต่อภาคการเงินทันที สุดท้าย ปัจจัยเรื่องผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งในภาพรวมต้องถือว่าดูดี ประกอบกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ของประเทศไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยการขยายตัวของ GDP ที่เพิ่มขึ้น 3.5% นั่น ถือว่าดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์เอาไว้ จากปัจจัยดังกล่าวที่ผมสรุปให้ข้างต้น ได้ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีความแรงร้อนและปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 19% (YTD)
อย่างไรก็ดี ผมเชื่อมั่นว่าการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้บรรยากาศโดยรวมไม่แรงร้อนเหมือนอย่างเช่นที่ผ่านมา อีกทั้งการเข้าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ผ่านมา ทั้งหุ้น และตราสารหนี้ ซึ่งมียอดซื้อสุทธิรวมกันตั้งแต่ต้นปีกว่า 2 แสนล้านบาท เฉลี่ยประมาณตลาดละแสนล้านบาท ในมุมมองของผมคาดว่าแรงซื้อจากนี้ มีแนวโน้มเบาลงได้บ้าง ซึ่งผมได้เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า การเบาลงในครั้งนี้เหมือนการพักเพื่อลดความร้อนแรงหลังจากปรับตัวขึ้นมาพอสมควร อีกทั้งจะเป็นจังหวะของการพักเพื่อให้นักวิเคราะห์ในการพิจารณาข้อมูลเพื่อปรับปรุงประมาณการผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนสำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้ และแนวโน้มในปีหน้า
ดังนั้น ถัดจากนี้ภาพตลาดน่าจะเริ่มเข้าสู่สภาวะ SIDEWAY หรือแกว่งตัวในกรอบแคบๆ เพื่อรอปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา โดยผมมองว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อรอผลการประชุมสำคัญๆ ที่จะมีขึ้นในช่วงประมาณกลางเดือนกันยายนเป็นต้นไป โดยเริ่มจากการประชุมธนาคารกลางยุโรป (8 ก.ย.) การประชุมธนาคารกลางของอังกฤษ (15 ก.ย.) และปิดท้ายด้วย การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นและสหรัฐฯ (20-21 ก.ย.) ดังนั้น หากภาวะการลงทุนในช่วงนี้จะดูนิ่งๆ แกว่งตัวขึ้นลงแคบๆ ซึ่งผมมองว่าเป็นสัญญาณเหมาะสม ถือว่าเป็นช่วงพักตัว และรอดูผลการประชุมสำคัญๆ โดยเฉพาะถ้อยแถลงในการประชุม Jackson Hole ที่กำลังจะมาถึงในวันศุกร์นี้ อย่างไรก็ดี หากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความชัดเจนในการเลื่อนขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.นี้ ผมมองว่าตลาดหุ้นไทยจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบที่กรอบ 1,550-1,570 จุดในไตรมาส 3/59 ครับ
“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”