xs
xsm
sm
md
lg

อัตราเติบโตญี่ปุ่นไตรมาส 2 นิ่งสนิท กดดัน อาเบะ-บีโอเจ เพิ่มแผนกระตุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>มุมหนึ่งของกรุงโตเกียวในวันนี้ (15 ส.ค.) วันที่รัฐบาลญี่ปุ่นเผยแพร่ข้อมูลตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าแทบไม่มีการเติบโตเอาเลย </i>
เอเจนซีส์ - ข้อมูลตัวเลขที่รัฐบาลเผยแพร่ในวันจันทร์ (15 ส.ค.) ชี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นแทบไม่มีการเติบโตเลยในช่วงไตรมาส 2 (เม.ย.- มิ.ย.) ปีนี้ เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนทางธุรกิจที่ซบเซาช่วยกันบ่อนทำลายการฟื้นตัวที่อยู่ในสภาพเปราะบาง สถานการณ์เช่นนี้เป็นการเพิ่มความกดดันให้นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ต้องเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ ออกมาเพิ่มเติม

จากข้อมูลที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 0.2% เปรียบเทียบกับที่ทำได้ระดับ 1.9% ในไตรมาสแรก ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดหมายตัวเลขอยู่ที่ 0.7% โดยหนึ่งในตัวแปรสำคัญ คือ ความต้องการในภาคเอกชนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของกิจกรรมธุรกิจ ขยับขึ้นบางเฉียบเพียง 0.2%

ช่วงต้นเดือนนี้ นายกรัฐมนตรี อาเบะ พยายามชุบชีวิตยุทธศาสตร์ “อาเบะโนมิกส์” ของเขา ที่มีเป้าหมายต่อสู้ภาวะเงินฝืด ด้วยการเสนอมาตรการริเริ่มในการใช้จ่ายมูลค่า 267,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจใช้จ่ายเงินมากขึ้น และสนับสนุนการฟื้นตัว หลังจากอังกฤษโหวตถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ในเดือนมิถุนายน จนส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกปั่นป่วนและเงินเยนแข็งค่าอย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้น เมื่อไม่นานมานี้ บีโอเจยังประกาศเพิ่มการรับซื้อสินทรัพย์จากสถาบันการเงินเพื่อเป็นการอัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบ และสานต่อเป้าหมายให้อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นเป็น 2%

บีโอเจยังมีแผนประเมินผลกระทบจากการผ่อนคลายทางการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม โดยระบุถึงความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับแนวโน้มราคาและตลาดโลกในช่วงหลัง ๆ นี้

ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินเยนและราคาน้ำมันขาลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ ส่งผลอย่างรุนแรงต่อเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่อาเบะและบีโอเจกำหนดไว้ โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน ได้ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บีโอเจเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมทุนสำรองส่วนเกินจากพวกธนาคารที่เน้นลูกค้ารายย่อย และดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ เพื่อกระตุ้นผู้ปล่อยกู้ให้ปล่อยกู้ให้แก่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ

นโยบายดังกล่าวช่วยกระตุ้นการรีไฟแนนซ์ และส่งเสริมดีมานด์ผ่านการลงทุนในที่พักอาศัยใหม่ที่เติบโตถึง 5% ในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ก็ทำให้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์แย่ลงเช่นกัน

ขณะเดียวกัน การลงทุนของภาคธุรกิจลดลง 0.4% และการใช้จ่ายของผู้บริโภคขยับขึ้นเพียง 0.4% แม้รายได้เพิ่มขึ้น 2.5% และสิ่งที่สำคัญมากก็คือความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับจากอาเบะเข้ารับตำแหน่งในช่วงปลายปี 2012

จุงโกะ นิชิโอกะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง วิจารณ์ว่า ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดนี้น่าผิดหวังมาก สถานการณ์ยากลำบากขึ้น ค่าเงินเยนแข็งขึ้น และยังมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มในตลาดโลก นอกจากนั้น บริษัทต่าง ๆ ยังมองแนวโน้มการลงทุนติดลบ

นักวิเคราะห์คาดว่า ข้อมูลจีดีพีล่าสุดนี้จะเพิ่มความกดดันให้บีโอเจต้องดำเนินการบางอย่างในการประชุมเดือนหน้า

มาร์เซล เทียแลนต์ จากบริษัทวิจัย แคปิตอล อิโคโนมิกส์ ทิ้งท้ายว่า เศรษฐกิจที่หยุดชะงักในไตรมาส 2 ประกอบกับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินเยนที่มีต่อภาวะเงินฝืด จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง และเพิ่มความกดดันให้บีโอเจต้องออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินระลอกใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น