xs
xsm
sm
md
lg

IMF ชี้เศรษฐกิจจีน-ญี่ปุ่นตกแรง 2 ปีหน้า แต่เอเชียจะยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชางยอง รี ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ แถลงกับผู้สื่อข่าวในฮ่องกงเมื่อวันอังคาร(3พ.ค.) เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ ท่ามกลางความคาดหมายว่าเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรงในช่วง 2 ปีข้างหน้า แต่การเติบโตของเอเชียจะยังคงแข็งแกร่ง
เอเอฟพี - “ไอเอ็มเอฟ” คาด “เศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น” มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรงในช่วง 2 ปีข้างหน้า แต่การเติบโตของเอเชียจะยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งเพิ่มสูงสามารถชดเชยการค้าโลกที่ซบเซาลง อย่างไรก็ดี ผู้วางนโยบายควรเดินหน้ามาตรการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อรับมือความท้าทายจากภายนอก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุในรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกฉบับล่าสุด ที่เผยแพร่ออกมาในวันอังคาร (3 พ.ค.) ว่า บรรดามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลเอเชียนำออกมาใช้, ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดต่ำลง และอัตราการว่างงานซึ่งอยู่ในระดับต่ำ เหล่านี้จะเป็นปัจจัยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแถบนี้ ถึงแม้ในเวลาเดียวกันนั้น เอเชียก็ต้องเผชิญความท้าทายจากภายนอกจำนวนมาก ไล่เรียงตั้งแต่การที่พวกเศรษฐกิจก้าวหน้าของโลกยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ, การค้าโลกชะลอตัว, และตลาดการเงินของโลกอยูในอาการวูบวาบผันผวนหนักหน่วงขึ้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ไอเอ็มเอฟเผยแพร่รายงานทิศทางแนวโน้มของภูมิภาคนี้ฉบับก่อนเมื่อเดือนตุลาคม ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกอยู่ในอาการวูบวาบผันผวนยิ่ง โดยสืบเนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนและราคาน้ำมันที่ดำดิ่ง จึงทำให้ราคาหุ้นตกฮวบในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ และมูลค่าราคาตลาดหายสูญไปหลายล้านล้านดอลลาร์ ถึงแม้มีการฟื้นตัวขึ้นมาบ้างตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา แต่พวกนักลงทุนก็ยังคงวิตกกังวล

“เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตที่สุดของเศรษฐกิจโลก แต่ขณะนี้ เอเชียกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงรุนแรง ไล่เรียงตั้งแต่การฟื้นตัวอย่างอ่อนแรงของเศรษฐกิจโลก การค้าโลกชะลอตัว และผลกระทบช่วงสั้นๆ จากช่วงเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจของจีน” รายงานฉบับนี้ของไอเอ็มเอฟระบุ

“เพื่อเพิ่มพูนความแข็งแกร่งในการรับมือต่อความเสี่ยงต่างๆ และยังคงมีฐานะเป็นแหล่งที่มาของพลวัต ผู้วางนโยบายในเอเชียควรเดินหน้าการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และสร้างโอกาสทางการคลังควบคู่ไปกับการสนับสนุนอุปสงค์ตามที่จำเป็น”

ไอเอ็มเอฟทำนายว่า การเติบโตของเอเชียปีนี้และปีหน้าจะอยู่ที่ 5.3% ปรับต่ำลงจากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนตุลาคมที่ 5.4%

สำหรับจีน ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก รายงานล่าสุดฉบับนี้ของไอเอ็มเอฟคาดหมายว่า จะขยายตัว 6.5% ในปีนี้ ซึ่งเท่ากับเป้าหมายต่ำสุดที่ปักกิ่งคาดการณ์ไว้ สำหรับปีหน้า ไอเอ็มเอฟให้ตัวเลข 6.2% ตัวเลขพยากรณ์เหล่านี้ล้วนลดลงจากระดับ 6.9% ซึ่งแดนมังกรทำได้ในปี 2015 ที่ผ่านมาและถือเป็นอัตราเติบโตต่ำสุดในรอบ 25 ปี กระนั้นก็ยังดีกว่าที่ไอเอ็มเอฟคาดไว้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
ชางยอง รี ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ(ที่2จากซ้าย) แถลงกับผู้สื่อข่าวในฮ่องกงเมื่อวันอังคาร(3พ.ค.) เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ ท่ามกลางความคาดหมายว่าเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรงในช่วง 2 ปีข้างหน้า แต่การเติบโตของเอเชียจะยังคงแข็งแกร่ง
รี ชางยอง ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย-แปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวระหว่างการเปิดตัวรายงานฉบับนี้ว่า ถึงแม้เอเชียยังคงเป็นเครื่องจักรผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่สถานการณ์ภายนอกขณะนี้กำลังส่งผลในทางไม่เอื้ออำนวยมากขึ้นเรื่อยๆ

รายงานของไอเอ็มเอฟตั้งข้อสังเกตว่า คณะผู้นำจีนกำลังพยายามเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพิงการลงทุนของภาครัฐและการส่งออกเป็นปัจจัยผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ มาเป็นการเน้นหนักอาศัยการบริโภคภายในประเทศ

นอกจากนั้น รายงานยังเตือนเรื่องผลกระทบจากการชะลอตัวของจีนที่จะบังเกิดกับประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพิงแดนมังกรในการผลักดันการขยายตัวของตนเอง ซึ่งรวมถึงการค้าและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซบเซา พร้อมกับชี้ว่า ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าแน่นแฟ้นกับปักกิ่ง เป็นพวกที่ได้รับผลพวงหนักหน่วงที่สุดจากความผันผวนในตลาดหุ้นจีน

ขณะเดียวกัน รีก็เตือนว่า ผู้วางนโยบายต้องคำนึงถึงสมดุลระหว่างการขยายสินเชื่อกับภาระที่จะตกกับภาคธุรกิจและธนาคาร

สำหรับทิศทางแนวโน้มของญี่ปุ่นนั้น รายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่า อัตราเติบโตชะลอตัวลงเช่นกัน โดยไอเอ็มเอฟระบุว่า ผู้ส่งออกของญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินเยน ซึ่งขณะนี้กำลังทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกัน พวกเขายังเจอผลกระทบจากการค้ากับจีนที่ชะลอลง

รายงานปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของญี่ปุ่นในปีปัจจุบันลง 0.5% กลายเป็นติดลบ 0.1% สืบเนื่องจากเป็นที่คาดหมายกันว่าจะมีการขึ้นภาษีการบริโภคขึ้นไปอีก ตลอดจนประสบปัญหาเรื้อรังจากการที่โครงสร้างประชากรสูงวัยมากขึ้น และหนี้สินภาคสาธารณะก็มีจำนวนมหาศาล

การที่ไอเอ็มเอฟลดแนวโน้มการเติบโตของญี่ปุ่นลงมาเช่นนี้ ยังเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ปฏิเสธไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แม้ข้อมูลหลายชุดบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจซึมเซา ซึ่งทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นการเติบโตของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ หรือที่เรียกกันว่า “อาเบะโนมิกส์”

สำหรับประเทศอื่นๆ รายงานของไอเอ็มเอฟคาดหมายว่า เศรษฐกิจอินเดียปีนี้และปีหน้าจะโต 7.5% เท่ากับที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และถือเป็นอัตราสูงสุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก โดยปัจจัยที่เอื้ออำนวยมีทั้งการที่ราคาน้ำมันขาลง, การลงทุนของรัฐบาล, และการบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวซึ่งช่วยชดเชยการชะลอตัวของภาคส่งออก

ทางด้านเกาหลีใต้ได้รับการคาดหมายว่า จะเติบโต 2.7% และ 2.9% ในปีปัจจุบันและปี 2017 ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปีที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากดีมานด์ภายในประเทศเช่นเดียวกัน

ในส่วนอัตราการเติบโตของออสเตรเลีย ไอเอ็มเอฟบอกว่าจะยังมีเสถียรภาพอยู่ที่ 2.5% ในปี 2016 ก่อนขยับขึ้นในปีหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น