xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยหนุนราคาทองคำในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2016

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ราคาทองคำเพิ่งพุ่งขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ในอัตราที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อนๆ และราคาทองคำได้ปรับขึ้นอีกราว 6.5% ในไตรมาส 2 และพุ่งขึ้นมาแล้วมากกว่า 25% จากช่วงต้นปีนี้  โดยนักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลเรื่อง Brexit  และราคาทองได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการที่นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2016 ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อโดยคาดว่าราคาทองคำจะยังคงได้รับปัจจัยหนุนดังต่อไปนี้

ปัจจัยแรก ได้แก่ ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยคาดว่า Brexit อาจส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยอังกฤษจะเผชิญต่อความไม่แน่นอนเป็นอย่างมากในเรื่องแนวโน้มการเติบโต และในด้านความสามารถในการดึงดูดนักลงทุน และBrexit อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ทั้งใน และนอกยุโรปด้วย  จากความไม่แน่นอนจาก Brexit ส่งผลให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง และเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

ขณะที่การดำเนินนโยบายทางการเงินโดยใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ หรือการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบถือว่าเป็นอีกปัจจัยที่จะส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2016 โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก Brexit อาจส่งผลให้ธนาคารกลางในหลายประเทศใช้มาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ และการใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำถึงติดลบ ซึ่ง “อัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate)” อธิบายได้ง่ายๆ ว่า ธนาคารกลางจะคิดดอกเบี้ยจากเงินที่ธนาคารพาณิชย์เอามาฝากไว้กับธนาคารกลาง เป้าหมายคือเพื่อกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ไม่นำเงินมาฝากเอาไว้กับธนาคารกลาง และปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในปัจจุบันประเทศที่ใช้นโยบายนี้ ได้แก่ ยูโรโซน, สวีเดน, เดนมาร์ก, สวิตเซอร์แลนด์ และล่าสุดคือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหากธนาคารกลางต่างๆ ยังคงเดินหน้าอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบรวมทั้งใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ-ติดลบต่อไปคาดว่าจะส่งผลบวกต่อราคาทองคำในระยะยาวได้

และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลบวกต่อราคาทองคำ คือ การชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จากการลงคะแนนเสียงของสหราชอาณาจักรที่จะออกจากสหภาพยุโรปส่งผลให้ตลาดการเงินโลกเกิดความปั่นป่วน และนั่นส่งผลให้ความหวังของเฟดที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ถูกลดทอนลง จากการประชุมครั้งที่ผ่านมา เฟดมีการส่งสัญญาณของความวิตกเกี่ยวกับประเด็น Brexit ซึ่งจากผลการทำประชามติทำให้แทบไม่มีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ ขณะที่สัญญาซื้อขายอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่า เทรดเดอร์เริ่มถึงความเป็นไปได้เล็กน้อยที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และมองเห็นโอกาสน้อยลงที่จะเกิดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกระทั่งปีหน้า ซึ่งจะส่งผลบวกต่อราคาทองคำ นอกจากนี้ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งเท่านั้นในปีนี้ และคาดว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกไปจนถึงปี 2561เนื่องจาก ศก.สหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวอีกด้วย

จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้ธนาคารชั้นนำของโลกต่างออกมาปรับเพิ่มการคาดการณ์ราคาทองคำ โดย Oversea-Chinese Banking Corp. คาดว่าทองคำจะได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และคาดว่าราคาทองคำมีโอกาสปรับขึ้นไปถึง 1,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากภายในปีนี้เฟดไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และคาดว่าราคาทองคำจะอยู่ที่ระดับ 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ ด้าน ABN Amro Group NV คาดหวังว่าความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยจะเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ ตลาดมีแนวโน้มที่จะปรับลดการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดซึ่งจะส่งผลบวกต่อราคาทองคำ และโลหะมีค่าอื่นๆ เป้าหมายราคาในช่วงสิ้นสุดเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และ 1,370 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในสิ้นเดือนธันวาคม ขณะที่ Societe Generale SA และ HSBC คาดว่า ราคาทองคำจะแตะระดับ 1,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ Credit Suiise คาดว่าราคาทองคำเฉลี่ยในไตรมาส 4 ของปีนี้ที่ 1,475 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และ 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงไตรมาสแรกของปีถัดไป โดยยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุน เช่น การกระจายความเสี่ยงของธนาคารกลาง, ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายน, อุปทานทองคำที่ลดลงในปีนี้และปีต่อไป และความต้องการที่เพิ่มขึ้นจาก ETFs และทองคำแท่ง และเหรียญทอง

อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วแนวโน้มของราคาทองคำจะขึ้นอยู่กับว่าภาวะไม่แน่นอนที่เกิดจาก Brexit จะส่งผลกระทบรุนแรงเพียงใด และส่งผลกระทบยาวนานเพียงใด และขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับทบทวนแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยทั้ง2 ประการนี้ยังคงมีความผันผวนสูงในสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ แรงซื้อแรงขายในตลาดทองคำมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และการแกว่งตัวของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมารวดเร็ว และรุนแรง นักลงทุนจึงควรวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ และไม่ควรลงทุนมากเกินกำลัง หรือความเสี่ยงที่แบกรับได้


กำลังโหลดความคิดเห็น