xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” นัดเอกชนถกด่วน รับมือ “ทรัมป์” ไล่บี้ขาดดุลการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” นัดภาคเอกชนถกด่วน รับมือ “ทรัมป์” ออกคำสั่งตรวจสอบประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ เผยไทยได้ดุลลำดับที่ 11 ยันไทยมีจุดยืนชัดเจน ไม่ทำค่าเงินอ่อน และส่งเสริมการลงทุนทั้งดึงเข้ามาและออกไปลงทุน ระบุสหรัฐฯ ไม่ได้พุ่งเป้ามาที่ไทยโดยตรง

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะเชิญผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ เอกชนที่เข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ รวมถึงผู้นำเข้าสินค้าสหรัฐฯ และนักธุรกิจสหรัฐฯ ที่ลงทุนในไทย มาหารือเพื่อประเมินผลกระทบต่อไทย หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งพิเศษเพื่อดำเนินการตรวจสอบการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับ 16 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ส่วนรายละเอียดในคำสั่งทั้ง 2 ฉบับต้องศึกษาดูรายละเอียดก่อนว่ามีมิติอะไรบ้าง

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยืนยันว่าไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นในเรื่องการค้าการลงทุน ซึ่งทั้งสองประเทศมีศักยภาพที่จะร่วมมือด้านพันธมิตรทางการค้า โดยใช้ความเข้มแข็งที่สหรัฐฯ มีในสาขาวิจัยและพัฒนามาร่วมมือกับไทยและส่งออกไปประเทศที่สาม และไทยก็สนับสนุนให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศรวมถึงสหรัฐฯ เช่น อาหาร ซึ่ง ซี.พี.ก็มีการเข้าไปซื้อกิจการด้านอาหารในสหรัฐฯ โดยมองว่าไทยและสหรัฐฯ ยังมีความร่วมมือต่อกันในหลายๆ ด้านต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุถึงผลกระทบต่อไทยในระยะยาวได้ ต้องรอการหารือก่อน แต่กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายตัวเลขการส่งออกปี 2560 ขยายตัว 5% ไว้ก่อน

นอกจากนี้ ในด้านการค้า ไทยยืนยันว่าจะเดินหน้าทำการค้ากับประเทศทั่วโลก ไม่เฉพาะสหรัฐฯ แต่สิ่งที่ชัดเจนสุดคือ ไทยไม่มีการแทรกแซงค่าเงิน ที่ผ่านมาไทยมักถูกบ่นว่าค่าเงินแข็งค่าสุดในภูมิภาค เป็นเครื่องพิสูจน์ชัดเจนว่าไทยไม่มีการแทรกแซงค่าเงิน

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งให้หาสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จาก 16 ประเทศ และไทยได้ดุลการค้าอยู่ในลำดับที่ 11 โดยกำหนดให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวภายในระยะเวลา 90 วัน และอีกฉบับเป็นการสั่งการให้เพิ่มประสิทธิภาพการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด การจัดการกับปัญหาการละเมิดกฎหมายการค้า ภาษีอากร และทรัพย์สินทางปัญญา

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า จะมีการประมวลผล และติดตามการกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด และจะร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน แต่ถ้าถามว่าจะกระทบแรงมั้ยยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าสหรัฐฯ จะทำอะไรต่อ ต้องรอดูต่อไป แต่เชื่อว่าสหรัฐฯ ไม่ได้พุ่งเป้ามาที่ไทยโดยเฉพาะ เพราะในช่วงหาเสียงเลือกตั้งก็พุ่งเป้าไปที่จีนกับเม็กซิโก แต่ที่ไทยต้องกังวลเพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักในการส่งออกของไทย

“เห็นว่าก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการใดๆ กับไทย อยากเรียกร้องให้สหรัฐฯ คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกมิติที่มีมาอย่างยาวนาน ทั้งด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคง การศึกษา วัฒนธรรม เป็นต้น” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น