xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นพลังงานน้องใหม่ SCI มั่นใจเข้าเทรดทันในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“เอสซีไอ อิเลคตริค” เตรียมเข้าเทรดในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ มั่นใจโครงการลงทุนอนาคตช่วยผลักดันรายได้บริษัทแตะระดับ 5 พันล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า ผู้บริหารระบุงาน สปป.ลาว ฉลุย รัฐบาลเชื่อฝีมือป้อนงานระบบไฟฟ้าต่อเนื่อง ขณะที่งานในประเทศส่อได้อานิสงส์จากแผนลงทุนด้านพลังงานร่วม 2 หมื่นล้าน พร้อมหวังอนาคตสัดส่วนรายได้ธุรกิจพลังงานทดแทนขยับขึ้นมาเป็น 50%

เร็วๆ นี้ หุ้นในกลุ่มพลังงานน่าจะมีน้องใหม่เข้ามาเป็นสมาชิก ภายใต้ชื่อ “บริษัท เอสซีไอ อิเลคตริค จำกัด (มหาชน) (SCI)” ผู้ผลิตและจำหน่ายตู้สวิตช์บอร์ด รางเดินสายไฟ และอุปกรณ์รองรับผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคม และโครงสร้างเหล็กชุบกัลวาไนซ์ รวมทั้งธุรกิจบริการรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงดันสูง และระบบจำหน่ายไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในหมวดด้วยมูลค่ามาร์เกตแคป 4-5 พันล้านบาท

โดยล่าสุด เหลือเพียงเคาะสรุปราคาขายหุ้น IPO ที่คาดกันว่า 5.50-6.00 บาท หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่ง SCI แล้ว เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา สำหรับหุ้น IPO ของ SCI จำนวน 187.50 ล้านหุ้น พาร์ละ 1 บาท/หุ้น

“วิชา โตมานะ” กรรมการผู้จัดการ สายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวถึงแผนการเข้าซื้อขายบนกระดานเทรดของ SCI ว่า หากไม่มีสถานการณ์ที่สร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นไทยจนทำให้การเข้าซื้อขายไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย SCI พร้อมที่จะเข้าเทรดภายในช่วงที่เหลือของปีนี้แน่นอน

ย้อนกลับมาดูที่ธุรกิจที่น่าสนใจ และติดตาม SCI ถือเป็นผู้ประกอบการที่อยู่คู่กับอุตสาหกรรมด้านพลังงานไฟฟ้ามาช้านานร่วม 50 ปี ผ่านผู้บริหารถึง 3 รุ่น และเคยมีแผนเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในช่วงดังกล่าวทำให้แผนดังกล่าวถูกพับเก็บไป จนมาถึงรุ่นที่ 3 อย่าง “เกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCI แผนการระดมทุนเพิ่มขยายกิจการรองรับการเติบโตทางธุรกิจจึงได้เกิดขึ้นอีกครั้ง

หันมามองที่กลุ่มลูกค้า นอกจากผู้ให้บริการไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครลวง พบว่า SCI ยังให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมด้านพลังงานแถบตะวันออก รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีรองรับ ไม่เพียงเท่านี้ การมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้า สปป.ลาว จากผลงาน และความเชี่ยวชาญในด้านสินค้า และการวางระบบ ยังทำให้ SCI มีธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนภายใต้บริษัทย่อย คือ บริษัท ตาดสเลน พาวเวอร์ จำกัด (TAD) ที่ สปป.ลาว ด้วยโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาด 3.2 เมกะวัตต์ อายุสัมปทาน 30 ปี อยู่ในมือ

“ที่ สปป.ลาวตอนนี้เราได้งานปรับปรุงระบบไฟฟ้าเฟสแรก 94 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ซึ่งจะจบในปี 2015 แต่เฟส 2 อีก 67 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเริ่มเข้ามาในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ซึ่งนับเป็นงานในอนาคตที่เราจะเข้าไปรับ ส่วนงานอนาคตโปรเจกต์ที่ 2 คือ การก่อสร้างโรงงานผลิตโครงเหล็กที่พม่า ซึ่ง SCI จะลงทุน 40% ที่เหลือจากมาจากกลุ่ม “มิตซูบิชิฯ” ที่ได้สัมปทานจากรัฐบาลพม่าในการนำเข้า-ส่งออกโครงเหล็ก และกลุ่มผู้ประกอบการในประเทศ มูลค่า 26 ล้านเหรียญสหรัฐ”

โปรเจกต์ที่ 3 คือ การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมของประเทศ และโครงการสุดท้าย คือ โครงการก่อสร้างสายส่งสถานีไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มเติมใน สปป.ลาว มูลค่าประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ด้วยเพราะเป็นโครงการในรูปแบบ Turn Key Project ที่บริษัทต้องหาสถาบันการเงินมาปล่อยกู้ให้แก่รัฐบาล สปป.ลาว เพื่อนำมาจ่ายให้บริษัทดำเนินโครงการ”

“เกรียงไกร” กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายการลงทุนในพม่า และ สปป.ลาว ถือเป็นการเตรียมพร้อมขยายธุรกิจเพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะมีเกิดขึ้นภายในปลายปีนี้ และเป็นการเพิ่มที่มาของรายได้ และกระจายความเสี่ยงในการลงทุนของบริษัท ซึ่งในอนาคตจากการลงทุนในหลากหลายธุรกิจทำให้สัดส่วนรายได้มาจากหลายส่วน แต่เมื่อการลงทุนด้านพลังงานทดแทนทั้งในประเทศ และต่างประเทศแล้วเสร็จ คาดว่าสัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนเป็นรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทน 50% และรายได้จากธุรกิจหลักอีก 50%

“แม้เราจะมีการลงทุนจำนวนมากในอนาคต แต่อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทจะไม่เติบโตจนน่ากังวล เนื่องจากบริษัทจะใช้เงินจากการระดมทุนไปชำระหนี้ และมาขยายธุรกิจ ซึ่งหากแผนงานเป็นไปตามเป้าหมายเชื่อว่าภายในอีก 2 ปีจากนี้เราน่าจะมีรายได้ระดับ 3 พันล้านบาท และภายใน 5 ปีรายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 พันล้านบาท จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ที่ระดับ 2.8 พันล้านบาท”

นอกจากนี้ ในส่วนงานภายในประเทศด้วยการมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจแบบ Make to Order ทำให้บริษัทไม่มีปัญหาด้านต้นทุน หรือสต๊อกสินค้า อีกทั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคมยังมีอัตราการเติบโตสูง โดยประเด็นที่ผู้บิหารให้น้ำหนักนั่นคือ การลงทุนด้านพลังงานของประเทศในอนาคต มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะแบ่งเป็นการลงทุนด้านโครงสร้าง และอุปกรณ์ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศเพียง 4 ราย และ SCI คือ หนึ่งในนั้นทำให้เชื่อว่าบริษัทมีโอกาสเข้าคว้ามูลค่างานประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ของช่วงเวลาลงทุนอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า

SCI ระบุชัดเจนว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้บริษัทจะนำไปชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน นำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า (PDSR) เฟส 2 ใน สปป.ลาว และลงทุนในโรงงานผลิตในพม่า นอกจากนี้ จะนำเงินบางส่วนไปลงทุนในโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทยขนาด 45 เมกะวัตต์ โดยร่วมทุนกับพันธมิตรในสัดส่วนประมาณ 30% ของมูลค่าลงทุนทั้งหมดราว 3.5-3.7 พันล้านบาท ซึ่งเริ่มขึ้นในปีหน้า

โดยผลจากการนำเสนอข้อมูลให้แก่นักลงทุน (โรดโชว์) ทั้งภายใน และต่างประเทศ ผู้บริหารให้ข้อมูลว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้มั่นใจว่าหุ้นของบริษัทจะถูกจองซื้อได้ตามสัดส่วนที่นำออกมาเสนอขาย

สำหรับผลการดำเนินงาน SCI ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทมีรายได้จากการขาย และการให้บริการเพิ่มขึ้น 14.42% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 143.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.33% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น