ผู้จัดการรายวัน 360 - “มหาชัยฟู้ด” เปิดเกมรุกส่งออกเต็มตัว ผุดโรงงานในพม่าเริ่มได้ไตรมาสสองปีหน้า คาดดันรายได้ส่งออกเพิ่มเป็นสัดส่วนมากกว่า 15-50% แย้มเฟสสองเพิ่มไลน์ปลากระป๋องอีกทัพเมื่อวัตถุดิบมีพร้อม หลังปีนี้รายได้แตะ 1,000 ล้านบาท โตจากปีก่อน 15%
นายเจริญ รุจิราโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มหาชัยฟู้ดโปรเซสซิ่ง จำกัด เปิดเผยว่า มหาชัยฟู้ดเป็นบริษัทแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งมีบริษัท ส.ขอนแก่น ถือหุ้นอยู่ 90% ขณะที่ ส.ขอนแก่นจะเน้นธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสุกรเป็นหลัก โดยทั้งสองบริษัทดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน
ในส่วนของตลาดอาหารทะเลแปรรูปนั้น ปัจจุบันวัตถุดิบหรือสัตว์น้ำของไทยมีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาในส่วนของส่งออกจึงทำได้น้อย จัดส่งแบบเป็นโควตาหรือต้องเลื่อนออเดอร์ออกไปจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม ทั้งๆ ที่มีการส่งออกไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
ส่งผลให้บริษัทได้จับมือกับทางบริษัทญี่ปุ่นจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อเข้าไปลงทุนในประเทศพม่า ด้วยการร่วมทุนกับโลคัลพาร์ตเนอร์รายใหญ่ของพม่าที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับประมงในการจัดตั้งโรงงานชำแหละอาหารทะเลมาไทย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสสองปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งอนาคตจะใช้เป็นฐานผลิตในการส่งออกไปยังประเทศที่สาม โดยเฉพาะในจีน และเออีซี หลังจากนั้นเฟสต่อไปจะเริ่มไลน์ผลิตปลากระป๋องอีกส่วนหนึ่งด้วย
“โรงงานในพม่าตั้งอยู่ที่เมืองมะริด ซึ่งยังคงมีวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก สามารถรองรับการผลิตได้ 100 ตัน/วัน จากปัจจุบันในไทยสามารถทำได้ 65 ตัน/วัน ซึ่งการลงทุนครั้งนี้มีข้อดี 3 ด้าน คือ 1. วัตถุดิบมากพอต่อการดำเนินธุรกิจ 2. แรงงานถูกกว่าไทย 50% และ 3. เป็นฐานผลิตในอนาคต ขณะที่การลงทุนจะค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดความเสี่ยงในพม่า ทำให้ช่วงแรกเน้นแรงงานคนมากกว่าเครื่องจักร จึงลงทุนไม่สูงนัก และน่าจะทำให้สัดส่วนส่งออกปีหน้าทำได้ไม่ต่ำกว่า 15-50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 8% โดยเฉพาะตลาดจีนเพียงประเทศเดียวก็ทำให้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก”
นายเจริญกล่าวต่อว่า ภาพรวมตลาดลูกชิ้นปลาในไทยมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และมหาชัยฟู้ดมีส่วนแบ่งในตลาดโมเดิร์นเทรดกว่า 80% ส่วนในตลาดสดทั่วไปมีส่วนแบ่งเพียง 5% ปีที่ผ่านมามีรายได้ 865 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะทำได้ 1,000 ล้านบาท โตขึ้น 15% แบ่งเป็น ในประเทศ 92% และส่งออก 8% ซึ่งการลงทุนในพม่าครั้งนี้จะช่วยลดต้นทุนในประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานลดได้กว่า 90% จาก 60 คนเหลือ 4 คน โดยการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยแปรรูปอาหารทะเลแทน และทำให้ลดปัญหาแรงงานประมงด้วย