กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมแผน “ลอยตัวราคาน้ำตาล” เริ่มใช้ในฤดูการผลิตปี 2560/61 กำหนดลอยตัวราคาหน้าโรงงานสะท้อนราคาตลาดโลกโดยจะให้เปลี่ยนแปลงขึ้นลงระหว่าง 1-2 บาทต่อ กก. จากนั้นพาณิชย์จะกำหนดราคาขายปลีกให้สะท้อนราคาที่เปลี่ยนแปลง จับตาน้ำตาลขาขึ้น คาดปีหน้าจ่อขยับทันที
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบนั้น แนวทางการปฏิบัติได้หารือทุกฝ่ายแล้วโดยจะเริ่มใช้ในฤดูการผลิตปี 2560/61 โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างราคาที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน ซึ่งขณะนี้ได้หารือทุกภาคส่วนแล้วว่าการลอยตัวจะมีเพดานราคากำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่ในระดับ 1-2 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เพื่อไม่ให้กระทบต่อทุกภาคส่วน
“หลักการลอยตัวราคาจะเป็นส่วนของราคาหน้าโรงงานที่ขณะนี้กำหนดราคาน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงาน 19-20 บาทต่อ กก. โดยราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลกเฉลี่ยจะเคลื่อนไหวที่ 400-700 เหรียญสหรัฐต่อตัน แนวทางการลอยตัวจะดูการเคลื่อนไหวราคาเป็นหลัก หากราคาตลาดโลกเปลี่ยนแปลงเมื่อคำนวณเป็นราคาไทยให้เคลื่อนไหวขึ้นลงระดับ 1-2 บาทต่อ กก.ก็จะประกาศเปลี่ยนแปลง จากนั้นตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ก็จะต้องไปดูราคาขายปลีกที่จะมีค่าการตลาด ค่าขนส่งแต่ละพื้นที่ไม่ควรเท่ากัน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของพาณิชย์” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับบทบาทกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ตามโครงสร้างเดิม ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้นกองทุนฯ ต้องจ่ายชดเชยโครงสร้างใหม่จะไม่ต้องจ่ายเป็นเรื่องของระบบที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นจากนี้ไปจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงมากขึ้นเพราะหากราคาขั้นสุดท้ายต่ำจะต้องไปหักลบกันในปีถัดไปแทน ขณะเดียวกัน กองทุนฯ จะสามารถเรียกเก็บเงินมาสะสมไว้กรณีราคาอ้อยตกต่ำได้ เช่น กรณีราคาน้ำตาลทรายปรับขึ้นก็สามารถเรียกเก็บมาสะสมกองทุนฯ ไว้ใช้เหมือนกรณีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
“โควตาน้ำตาลจากเดิมที่มี ก. ข. ค. ก็จะยกเลิกนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะก็จะมีราคากลางในการคำนวณราคาอ้อยจากน้ำตาลส่งออกที่ให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลทราย จำกัด หรือ อนท.บริหารอยู่แล้ว และราคาในประเทศจะกำหนดให้สูงกว่าส่งออกเล็กน้อยเพื่อป้องกันการขาดแคลน โดยคำนวณว่าหากนำเข้ามาแล้วบวกค่าขนส่งต่างๆ เอาไว้” แหล่งข่าวกล่าว
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัว โดยคาดว่าจะปฏิบัติได้ในฤดูการผลิตปี 60/61 ซึ่งเบื้องต้นชาวไร่และโรงงานได้หารือแล้ว โดยกรอบที่วางเป็นแนวทางให้ประเทศบราซิลได้รับทราบถึงการแก้ไขปัญหาของไทยเพื่อไม่ให้ผิดระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO)
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ขั้นตอนการปฏิบัติเบื้องต้นในเรื่องของเกณฑ์การนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายนั้นคงจะมีผลทางปฏิบัติได้ในปี 2560/61 ระหว่างนี้ก็จะต้องมาดูเกณฑ์ต่างๆ ในทางปฏิบัติ แต่ฤดูการผลิตปี 59/60 ที่จะเปิดหีบช่วง พ.ย.นี้คงจะไม่ทัน แต่ประเด็นอื่นๆ ที่ดำเนินการได้ เช่น การกำหนดอ้อยไฟไหม้ การกำหนดประสิทธิภาพโรงงานจะดำเนินการได้ทันที
แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า การลอยตัวนั้นเบื้องต้นหลักการจะมีการกำหนดเพดานที่เหมาะสมเพื่อป้องกันผลกระทบต่อทุกฝ่าย แต่บางโรงงานก็อยากเห็นการลอยตัวแบบสมบูรณ์มากกว่า อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลทรายดิบซื้อขายล่วงหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ 21-22 เซ็นต์ต่อปอนด์ ยอมรับว่าทิศทางจะเป็นขาขึ้น