กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเปิดเวทีสัมมนาแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 18 ส.ค.นี้ ก่อนนำสู่เข้าพิจารณาใน กอน.และยื่น ”ครม.” เคาะภายใน ก.ย. จับตาแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหลังพาณิชย์ไฟเขียว ชาวไร่-โรงงานประสานเสียงไทยหนีไม่พ้น แต่รายละเอียดยังเห็นต่าง หวังแผนจะได้ข้อยุติป้องบราซิลฟ้อง WTO กล่าวหาไทยอุดหนุนชาวไร่
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า วันที่ 18 สิงหาคมนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดสัมมนาแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อรวบรวมความเห็นก่อนนำสู่การพิจารณาในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) วันที่ 30 ส.ค.และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือน ก.ย. โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะต้องสรุปคือแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัวให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
“มีหลายเรื่องที่จะต้องตกลงกันโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัวเพราะในที่สุดแล้วกติกาของโลกจะต้องเดินไปสู่แนวทางนี้แต่อาจจะต้องไปดูกฎหมายต่างๆ ให้พร้อมก่อนเพื่อให้มีกรอบหรือหลักการเอาไว้ ส่วนทันหรือไม่ทันฤดูการหีบนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะบางเรื่องจะสามารถดำเนินการได้ก่อน ซึ่งขณะนี้แนวทางการลอยตัวราคานั้นทางกระทรวงพาณิชย์ก็เห็นด้วยแล้วในเบื้องต้น” นายธีระชัยกล่าว
แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า โรงงานคงจะต้องดูประเด็นว่าที่สุดจะมีการนำข้อคิดเห็นต่างๆ ไปรวบรวมเพื่อนำเสนอ กอน. และครม.อย่างไร เพราะหากยังยึดหลักการเดิมที่หารือกันคือการนำผลผลิตทุกอย่างที่ออกจากโรงงานไม่ว่าจะเป็นกากน้ำตาล เอทานอล ไฟฟ้าชีวมวล ฯลฯ มาแบ่งปันผลประโยชน์ระบบ 70-30 โรงงานคงไม่เห็นด้วยเพราะทุกอย่างได้มาจากการลงทุนต่อไปจะทำให้โรงงานไม่ลงทุนเพิ่ม ขณะเดียวกัน การปรับโครงสร้างฯเป็นเรื่องใหญ่ต้องรอบคอบไม่ใช่เร่งรีบ ส่วนเรื่องการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายนั้นหลักการเห็นด้วยอยู่แล้วและทางโรงงานได้เสนอมาโดยตลอดแต่ที่ผ่านมารัฐก็ไม่มีการพิจารณาเพราะรายละเอียดมีมากที่ต้องคำนึงถึงการปฏิบัติโดยเฉพาะจะเอาราคาไหนไปคำนวณราคาอ้อย เป็นต้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า กระทรวงฯ จะต้องเร่งสรุปการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอครม.หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำหนดให้เร่งดำเนินการภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่ มิ.ย. เพื่อแก้ไขปัญหาที่สมาคมผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศบราซิล ได้เรียกร้องให้รัฐบาลบราซิลฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ดำเนินคดีทางการค้ากับประเทศไทย โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยให้เงินอุดหนุนแก่ชาวไร่อ้อยในการเพาะปลูก ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่ให้ความสนใจมาเพาะปลูกอ้อยมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มและผลิตน้ำตาลทรายเข้าสู่ตลาดโลกมากกว่าปกติ จึงเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกลงมาถึงเฉลี่ยที่ประมาณ 13-15 เซ็นต์ในช่วงที่ผ่านมาและทำให้บราซิลเสียหายกว่า 6 หมื่นล้านบาท
“ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เดินทางไปเจรจามาแล้วและมีการชี้แจงในประเด็นต่างๆ ไปพอสมควรซึ่งเราเองก็ ต้องปรับโครงสร้างให้เหมาะสมเพื่อให้ชัดเจน ซึ่งกติกาของ WTO นั้นอุดหนุนราคาพืชเกษตรได้แต่จะมีวงเงินจำกัด หากแยกเฉพาะของอ้อยเองก็ไม่ได้มากและที่ผ่านมาการนำเงินมาช่วยเกษตรกรไม่ได้เป็นการนำเงินงบประมาณรัฐมาเพิ่มค่าอ้อยแต่อย่างใด และการกู้ก็คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ เป็นต้น” แหล่งข่าวกล่าว