“กอน.” เห็นชอบหลักการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ... เร่งดูระเบียบที่ขัด WTOเพื่อให้บราซิลพอใจหลังจ่อฟ้องไทยอุดหนุน ชี้ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี จ่อถอดบัญชีน้ำตาลออกจากสินค้าควบคุมโดยจะปล่อยให้ลอยตัวโดยใช้วิธีกำหนดราคาแนะนำ รวมถึงไม่มีการกำหนดโควตาน้ำตาล ก.ข.ค.
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กอน.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการแนวทางแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่ประเทศบราซิลเห็นว่าขัดต่อข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) โดยจะมีการหารือร่วมกันจากทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานเพื่อเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี เพื่อคลายข้อกังวลของประเทศบราซิลผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของโลกที่มองว่าไทยมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยเฉพาะในเรื่องของประเด็นราคาอ้อย และราคาจำหน่ายน้ำตาลทราย รวมไปถึงระบบโควตา ดังนั้น หลักการจะต้องมีการแก้ไขราคาขายปลีกน้ำตาลทรายที่ประกาศควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์ ไปสู่ระบบที่สะท้อนต้นทุน หรือลอยตัว แต่แนวทางจะเป็นอย่างไรนั้นก็ต้องศึกษาโดยจะมีคณะทำงานขึ้นมาดูแลราคา โดยอาจเป็นประกาศแนะนำที่อ้างอิงตลาดโลก
นอกจากนี้จะมีการยกเลิกระบบการจัดสรรน้ำตาลที่แบ่งเป็นโควตา ก.(บริโภคในประเทศ) น้ำตาลโควตา ข. คือ น้ำตาลทรายดิบที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดให้ผลิตเพื่อส่งมอบให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ส่งออกและจำหน่ายไปยังต่างประเทศ จำนวน 8 แสนตันเพื่อใช้ทำราคาในการคำนวณราคาน้ำตาลส่งออก และน้ำตาลโควตา ค.น้ำตาลทรายส่งออกไปต่างประเทศในส่วนที่เหลือจากโควตาก.และข. ซึ่งเหตุผลที่มีการจัดสรรเพื่อป้องกันการขาดแคลนบริโภคในประเทศโดยวิธีใหม่ยืนยันว่าจะไม่ทำให้น้ำตาลขาดแคลนแน่นอน
ขณะที่ราคาอ้อยจะเป็นราคาแนะนำ แต่จะไม่มีการประกันราคาว่าจะต้องได้เท่าไหร่ พร้อมปรับรูปแบบเงินเพิ่มค่าอ้อย โดยไม่เป็นการอุดหนุนโดยตรงจากภาครัฐที่ขัดกับข้อตกลงของ WTO อีกต่อไป ส่วนการช่วยเหลือราคาอ้อยจะมีวิธีการดูแลแบบอื่น โดยเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) ที่จะพิจารณาร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ขณะเดียวกันยังกำหนดประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลของโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย โดยขณะนี้มีผลการศึกษามาแล้ว อยู่ระหว่างตกลงในรายละเอียด หากดำเนินการได้ทันจะใช้ในปีนี้
“โรงงานที่มีประสิทธิภาพในการผลิตต่ำก็จะต้องจ่ายค่า penalty ในระบบ หากผลิตได้ดีจะได้รางวัลเป็นต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต นอกจากนี้จะกำหนดมาตรฐานอ้อยมีเรื่อง penalty เช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงค่าเฉลี่ยเพื่อสร้างแรงจูงใจ ส่วนจะกำหนดว่าจะกี่ CCS ยังจะต้องตกลงกันตป อ้อยไฟไหม้ที่จะป้อนเข้าโรงงานจะค่อยๆ ลดลงส่วนระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานในสัดส่วนชาวไร่อ้อย 70% โรงงาน 30% ยังมีอยู่ตามเดิม” นายสมชายกล่าว