xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.เผย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย ผ่านการพิจารณาของ สนช.แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศักรินทร์ ร่วมรังสี ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต.
ก.ล.ต. เปิดเผยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มข้อกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (market misconduct) และมาตรการลงโทษทางแพ่ง (civil penalty) ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว

นายศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ที่ผ่านมา การกระทำความผิดในตลาดทุนมีความซับซ้อน โดยกฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมการกระทำความผิดรูปแบบใหม่ๆ รวมทั้งบทบัญญัติในกฎหมายบางกรณียังไม่ชัดเจน เกิดปัญหาการตีความ จึงอาจไม่เหมาะกับการกระทำความผิดในตลาดทุนที่หลักฐานส่วนใหญ่อยู่กับผู้กระทำความผิด ไม่ทิ้งร่องรอยไว้เหมือนคดีอาญาทั่วไป ทำให้ยากที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ประกอบกับกระบวนการฟ้องคดีอาญานั้น มีหลายขั้นตอน ใช้เวลานานในการดำเนินคดี

“ก.ล.ต.เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อปรับปรุงลักษณะการกระทำความผิด และเพิ่มมาตรการในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น โดยการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์
และตลาดหลักทรัพย์ฯ (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ที่สำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ 1) การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (market misconduct) และ 2) มาตรการลงโทษทางแพ่ง (civil penalty)”

สำหรับการเสนอแก้ไขกฎหมายเรื่องที่ 1 เกี่ยวกับ market misconduct ได้ปรับปรุงลักษณะความผิดให้ชัดเจนขึ้น และครอบคลุมการกระทำความผิดในลักษณะต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มความผิด ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุน และตลาดทุน ครอบคลุมการบอกกล่าว หรือเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือที่จะทำให้เข้าใจผิด รวมถึงการวิเคราะห์ หรือคาดการณ์ที่ใช้ข้อมูลเท็จ หรือบิดเบือน ซึ่งจะทำให้ผู้ให้ข้อมูล หรือความเห็นต่อประชาชน ต้องใช้ความระมัดระวัง และความรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในการคาดการณ์สามารถทำได้ หากตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลที่เป็นจริง ไม่บิดเบือน แม้ในภายหลังจะไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้
ก็ไม่เป็นความผิด

ความผิดในกลุ่มที่ 2 เป็นความผิดเกี่ยวกับการเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น โดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลตนรู้มา โดยกฎหมายที่แก้ไขกำหนดให้บุคคลที่รู้ หรือครอบครองข้อมูลภายใน ต้องไม่นำข้อมูลไปหาประโยชน์ หรือไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น และผู้รับข้อมูลก็ต้องไม่นำไปหาประโยชน์ หรือไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่นต่อๆ ไป โดยกฎหมายจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลวงใน เช่น กรรมการ ผู้บริหาร ที่ซื้อขายหุ้นในช่วงที่มีข้อมูลสำคัญ และยังไม่เปิดเผย ถือว่าเป็นผู้ซื้อขายที่รู้ หรือครอบครองข้อมูลภายใน และในกรณีผู้ใกล้ชิดกับบุคคลวงใน เช่น ญาติที่ใกล้ชิด หากมีการซื้อขายที่ผิดปกติในช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะถือเป็นผู้ซื้อขายที่รู้ หรือครอบครองข้อมูลภายในเช่นกัน

นอกจากนี้ กฎหมายยังครอบคลุมถึงบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทจัดการกองทุน รวมทั้งพนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทดังกล่าว ที่นำข้อมูลคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าไปใช้ประโยชน์ โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้าลูกค้า (front running) หรือเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งอาจอาศัยข้อมูลที่ได้มานั้น ไปซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้าลูกค้า จะมีความผิดตามกฎหมาย

ขณะที่ความผิดในกลุ่มที่ 3 เป็นความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ กฎหมายที่แก้ไขแบ่งความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1) การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคา หรือปริมาณการซื้อขาย และ 2) การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะต่อเนื่องจนทำให้ราคา/ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ความผิดกลุ่มนี้มักมีการกระทำร่วมกันเป็นกลุ่ม กฎหมายจึงมีการกำหนดให้การพิสูจน์การกระทำร่วมกันง่ายขึ้น

ในส่วนของความผิด market misconduct กลุ่มที่ 4 เป็นกฎหมายที่ดูแลความต่อเนื่อง และความน่าเชื่อถือของการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ โดยกำหนดให้การส่งคำสั่งซื้อขายที่อาจจะเป็นเหตุให้ระบบการซื้อขายดังกล่าวสะดุด หรือหยุดชะงักลงเป็นความผิด นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังกำหนดความผิดเกี่ยวกับการใช้ หรือยอมให้ใช้บัญชี nominee ที่นำไปใช้ในการกระทำความผิดเป็นความผิด market misconduct ด้วย

สำหรับการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในเรื่องที่ 2 เกี่ยวกับการเพิ่มมาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการบังคับใช้กฎหมายได้รวดเร็วขึ้น โดยความผิดที่สามารถบังคับใช้กฎหมายด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง จะเป็นความผิดที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสของตลาดทุน ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ การแสดงข้อความเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงในเอกสารที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน กรรมการ หรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด (fiduciary duty) การใช้ หรือยอมให้ใช้บัญชี nominee ในการทำ market misconduct โดยเมื่อ ก.ล.ต.เห็นควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง จะเสนอคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบังคับใช้กฎหมาย และด้านตลาดเงินตลาดทุน ได้แก่ อัยการสูงสุด (เป็นประธาน) ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการ ก.ล.ต. อย่างไรก็ดี หากผู้กระทำผิดยินยอม และชำระเงินครบถ้วนตามบันทึกการยินยอม คดีจะสิ้นสุดลง ทั้งในส่วนมาตรการลงโทษทางแพ่ง และทางอาญา แต่หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมชำระเงิน สำนักงานจะดำเนินการฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาลแพ่งต่อไป

“การปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้ผ่านการพิจารณาโดยผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน กลั่นกรองให้บทบัญญัติในกฎหมายมีความเหมาะสมในการบังคับใช้ และเท่าทันกับพัฒนาการของการกระทำความผิดในตลาดทุนที่มีความซับซ้อนมากขึ้นนอกจากเรื่อง market misconduct และมาตรการลงโทษทางแพ่งแล้ว ยังมีบทบัญญัติเพิ่มเติมอื่นๆ ที่รองรับการออกหลักทรัพย์ใหม่ๆ และการออกหลักทรัพย์ของบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาระดมทุนในไทยอีกด้วย”

อนึ่ง กฎหมายฉบับแก้ไขนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และจะมีผลใช้บังคับภายหลังการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา



กำลังโหลดความคิดเห็น