xs
xsm
sm
md
lg

“กฎหมายปราบพวกขี้โม้” ... ชุมชนคนหุ้น By สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 สาระสำคัญคือ การป้องกันการนำข้อมูลเท็จมาชี้นำราคาหุ้น และการนำข้อมูลภายในมาใช้ประโยชน์ในการซื้อขายหุ้น

การป้องกันการนำข้อมูลภายใน หรืออินไซเดอร์เทรดดิ้งนั้น เป็นเพียงการเพิ่มกฎเกณฑ์ควบคุมให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่กฎเกณฑ์ใหม่ที่น่าสนใจคือ การกำหนดความผิดของการใช้ข้อมูลเท็จชี้นำราคาหุ้น สาระสำคัญของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ.2535 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม คือ การกำหนดการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยห้ามบุคคลใดบอกกล่าว เผยแพร่ หรือให้คำรับรองข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ผลดำเนินงาน ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ หรือข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีผลต่อราคาหลักทรัพย์ และการตัดสินใจของผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนั้น ยังห้ามมิให้บุคคลใดวิเคราะห์ หรือคาดการณ์ฐานะทางการเงิน ผลดำเนินงาน ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ หรือข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ โดยนำข้อมูลที่รู้ว่าเป็นเท็จหรือไม่ครบถ้วน อันอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญมาใช้ในการคาดการณ์ หรือวิเคราะห์ หรือละเลยที่จะพิจารณาความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ หรือคาดการณ์ และได้เปิดเผยหรือให้ความเห็นนั้นต่อประชาชน โดยมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ หรือการตัดสินใจของผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

กฎเกณฑ์ป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ น่าจะมีผลบังคับใช้กับคนทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไล่ตั้งแต่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน นักวิเคราะห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของบริษัทโบรกเกอร์ นักลงทุนทั่วไป และไม่ควรมีข้อยกเว้นแม้แต่สื่อมวลชนทุกแขนงที่จงใจชี้นำหุ้น เพราะกฎหมายต้องบังคับใช้กับคน ทุกกลุ่มโดยไม่มีใครเป็นอภิสิทธิ์ชนยืนอยู่เหนือกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เคยออกมาเตือนผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ประเภท “ขี้โม้” ทั้งหลาย โดยจะออกหลักเกณฑ์มาควบคุม และกำหนดความผิดในการนำข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลที่เกินจริงมาชี้นำราคาหุ้น

หุ้นที่มีพฤติกรรมการสร้างราคา หรือมีพฤติกรรมปั่น โดยราคาหุ้นเคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างร้อนแรง มักจะมีการปล่อยข่าวดีชี้นำราคาเสมอ ขณะที่ผู้บริหารบริษัทมักจะขยันให้ข่าวดี ข่าวดีที่ผู้บริหารปล่อยมากระตุ้นราคาหุ้นมักจะเป็นการคาดการณ์แนวโน้มยอดขาย การวาดฝันอัตราการเติบโตของผลประกอบการที่เกินจริง รวมทั้งการขยายการลงทุน แผนการขยายธุรกิจ หรือการโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งที่ไม่มีการดำเนินการจริง

ส่วนนักวิเคราะห์ หรือมาร์เกตติ้งมักจะนำข้อมูลจากผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมาขยายผลนำไปวิเคราะห์ และคาดการณ์ รวมทั้งตั้งเป้าหมายราคาหุ้น โดยไม่ได้ไตร่ตรองว่าข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ หรือให้คำแนะนำกับลูกค้านั้นเป็นข้อมูลที่เกินจริง และมีความเป็นไปได้หรือไม่

แต่เมื่อผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน “โม้” มา ก็เชียร์ส่งเดชไป ทำให้นักลงทุนเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของข้อมูลที่ใช้ตัดสินใจ และนำไปสู่ความเสียหาย สื่อที่ไม่มีสำนึกในความรับผิดชอบ สื่อที่แสวงประโยชน์จากหุ้น หรือสื่อที่รับใช้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนก็อาจสวมรอยผสมโรงนำข้อมูลเท็จไปนำเสนอต่อ เชียร์กันสุดๆ ไป และทำให้นักลงทุนที่ชอบซื้อหุ้นตามแห่เจ็บเนื้อเจ็บตัวมานับไม่ถ้วน

ปัญหาผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน “ขี้โม้” นำข่าวเท็จมาโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อชี้นำราคาหุ้น ล่อลวงให้นักลงทุนตกเป็นเหยื่อ ถูกปล่อยปละละเลยมานับสิบๆ ปีแล้ว จึงต้องชมเชย ก.ล.ต.ที่ผลักดันกฎหมายออกมาปราบปรามเพื่อจัดระเบียบการลงทุนใหม่ จัดการกับพวกขี้โม้ เล่นงานพวกชี้นำราคาหุ้น และเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ดีในการปกป้องนักลงทุน อีกไม่นานกฎหมายป้องกันการใช้ข้อมูลเท็จชี้นำราคาหุ้นคงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารจดทะเบียนขี้โม้หายไปจากตลาดหุ้นบ้างเพราะถ้ายังไม่ยอมเลิกพฤติกรรมสร้างข่าวดีเพื่อ “แหกตา” นักลงทุน มีโอกาสได้เปลี่ยนที่นอนไปอยู่ในคุกได้ และ ก.ล.ต.ยุคนี้เข้มในกติกา และกฎหมายเสียด้วยสิ

สุนันท์ ศรีจันทรา
กำลังโหลดความคิดเห็น