xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มีผลบังคับใช้แล้ว เพิ่มบทลงโทษทางแพ่ง-เข้มอินไซเดอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 12 ธ.ค.เป็นต้นไป ก.ล.ต.แจงสาระสำคัญ เข้มความผิดฐานอินไซเดอร์ เพิ่มบทลงโทษทางแพ่ง สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับ market misconduct ได้ปรับปรุงลักษณะความผิดเป็น 4 กลุ่มความผิด

นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2559 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 5 แล้ว ทำให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.2559

โดยก่อนหน้านี้ นายศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า ที่ผ่านมา การกระทำความผิดในตลาดทุนมีความซับซ้อน กฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมการกระทำความผิดรูปแบบใหม่ๆ รวมทั้งบทบัญญัติในกฎหมายบางกรณียังไม่ชัดเจน ประกอบกับกระบวนการฟ้องคดีอาญานั้น มีหลายขั้นตอน ใช้เวลานานในการดำเนินคดี

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ปรับปรุงลักษณะการกระทำความผิด และเพิ่มมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น โดยมีประเด็นที่สำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (market misconduct) และมาตรการลงโทษทางแพ่ง (civil penalty)

สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับ market misconduct ได้ปรับปรุงลักษณะความผิดเป็น 4 กลุ่มความผิด ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุน และตลาดทุน, ความผิดเกี่ยวกับการเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น โดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลตนรู้มา, ความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ เป็นต้น ขณะที่การเพิ่มมาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการบังคับใช้กฎหมายได้รวดเร็วขึ้น

ดังนั้น เมื่อ ก.ล.ต.เห็นควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง จะเสนอคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบังคับใช้กฎหมาย และด้านตลาดเงินตลาดทุน ได้แก่ อัยการสูงสุด (เป็นประธาน) ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นต้น

อย่างไรก็ดี หากผู้กระทำผิดยินยอม และชำระเงินครบถ้วนตามบันทึกการยินยอม คดีจะสิ้นสุดลงทั้งในส่วนมาตรการลงโทษทางแพ่ง และทางอาญา แต่หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมชำระเงิน ก.ล.ต.จะดำเนินการฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาลแพ่งต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น