สำนักกฎหมายทำความเข้าใจ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ ขรก.-ร่าง พ.ร.บ.ทวงหนี้ให้ สนช. ก่อนบรรจุเข้าสภาสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นกฎหมายด่วนที่ คสช.ตั้งไว้
วันนี้ (22 ส.ค.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เข้ารับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับความเป็นมา และสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. .. และร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.... โดยสำนักกฎหมายเป็นผู้บรรยายในข้อมูล เพื่อให้สมาชิก สนช.ทำความเข้าใจก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับจะบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช.ในสัปดาห์หน้า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นกฎหมายเร่งด่วนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ส่งมาให้ที่ประชุม สนช.ได้พิจารณา
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญ ระบุว่า ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และผู้รับบำนาญที่อยู่ในวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ รวมถึงทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด มีสิทธิขอกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 โดยให้แสดงความประสงค์ต่อส่วนราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คน เป็นกรรมการ โดยมีอำนาจออกประกาศและคำสั่งในการทวงถามหนี้ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจการทวงถามหนี้ จะต้องจดทะเบียนตามหลักเกณฑ์ ตลอดจนเสียค่าธรรมเนียม ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยให้เจ้าหนี้ติดต่อลูกหนี้ตามสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ในเวลา 09.00 น.ถึง 20.00 น. รวมถึงห้ามทวงถามหนี้ด้วยการข่มขู่ หรือใช้ความรุนแรงและติดต่อลูกหนี้ โดยใช้เอกสารที่ชัดเจน
พร้อมกันนี้ยังมีข้อห้ามไม่ให้เจ้าหนี้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการกำหนด รวมทั้งจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค ทั้งที่ทราบว่าลูกหนี้อยู่ในสถานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้