xs
xsm
sm
md
lg

วิปสนช.เผยเลือกนายกฯ เสียงต้องเกินกึ่งหนึ่ง ไม่จำเป็นร่วมประชุมหรือแสดงวิสัยทัศน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษกวิปสนช. แถลง ประชุมสนช. 2 วันต่อสัปดาห์ พฤ.-ศ. พรุ่งนี้ประชุมเลือกนายกฯอย่างเดียว เสนอชื่อสนช. 1 ใน 5 ต้องรับรองโดยวิธีเสียบบัตร ก่อนเลขาฯวุฒิ ขานชื่อสมาชิกให้ลงมติเปิดเผย ต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ผู้ถูกเสนอไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่ประชุม ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ แค่เช็คคุณสมบัติและถูกทาบไว้แล้ว เผยพิจารณากม.ด่วนก่อน 6 ฉ.



วันนี้ (20ส.ค.) ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) แถลงภายหลังการประชุมวิปสนช.ว่า ที่ประชุมวิปสนช.มีมติให้มีการประชุมสนช.สัปดาห์ละ 2 วัน ในวันพฤหัส และวันศุกร์ เวลา 10.00 น. โดยจะประชุมวิปสนช.ทุกวันอังคาร ส่วนวาระการประชุมสนช.ในวันที่ 21 ส.ค.มีเพียงวาระเดียวคือ การให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี จะเริ่มจาก การเสนอร่างข้อบังคับการประชุม เฉพาะหลักเกณฑ์เรื่องการเลือกตัวนายกรัฐมนตรี ให้ที่ประชุมสนช.เห็นชอบ เมี่อที่ประชุมให้ความเห็นชอบ ก็จะมีการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี โดยให้สมาชิกสนช.เสนอชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้การเสนอชื่อ ต้องมีสมาชิกสนช. 1 ใน 5 ให้การรับรอง หรือประมาณ 40 คน โดยใช้วิธีเสียบบัตรลงคะแนนในการรับรอง แทนการยกมือรับรองเหมือนที่ผ่านมา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรับรองชื่อซ้ำซ้อนกัน หากมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีมากกว่า 1 คน

นพ.เจตน์กล่าวว่า หลังจากที่มีการเสนอชื่อบุคคลที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีผู้รับรองครบถ้วนแล้ว ขั้นตอนการคัดเลือกจะให้เลขาธิการวุฒิสภาขานรายชื่อสมาชิกสนช. เพื่อให้ลงมติโดยเปิดเผยว่า เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง โดยผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสนช.ที่มีอยู่ หรือ 99 คะแนนขึ้นไป ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องประชุม ไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์ เพียงแต่ผู้เสนอชื่อต้องรับผิดชอบเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติว่า บุคคลดังกล่าวต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และต้องมีการทาบทามบุคคลดังกล่าวมาล่วงหน้าแล้ว

นพ.เจตน์กล่าวว่า สำหรับการพิจารณากฎหมายเร่งด่วน ขณะนี้คสช.เสนอกฎหมายให้สนช.พิจารณา 10 ฉบับ ซึ่งสนช.จะพิจารณาในเบื้องต้นก่อน 6 ฉบับได้แก่ 1.ร่างพ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย 2.ร่างพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ 3.ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 4.ร่างพ.ร.บ.ศุลกากร 5.ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 6.ร่างพ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494

โดยจะนำเข้าหารือในการประชุมสนช. วันที่ 28 ส.ค. ซึ่งในการประชุมวิปสนช.วันที่ 26 ส.ค.จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงรายละเอียดของกฎหมายเหล่านี้ให้สนช.ทราบ เพื่อสรุปนำเข้าสู่การประชุมสนช.ต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น