xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. เตรียมปรับเป้าจีดีพี กังวลภัยแล้งรุนแรงกว่าคาด ขณะที่ ศก.โลกยังผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธปท.เตรียมปรับลดจีดีพีปีนี้โตต่ำกว่า 3.5% โดยมีปัจจัยกระทบหลักจากภัยแล้ง ขณะที่ ศก.โลกยังผันผวน และการเบิกจ่ายงบที่ล่าช้า ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นผลมาจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติระยะสั้น ซึ่งมาจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก ขอให้ผู้ส่งออก และนำเข้าปิดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วันที่ 31 มีนาคมนี้ ธปท.จะแถลงปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจใหม่ จากเดิมที่คาดว่าปีนี้จีดีพีปีนี้จะโตร้อยละ 3.5 โดยมีแนวโน้มจะต่ำกว่าประมาณการ หลังจากเห็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาชะลอตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความผันผวนจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ล่าช้ากว่าเดิม

สำหรับกรณีที่รัฐบาลให้กระทรวงการคลังหามาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยเพื่อใช้ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้านั้น ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า เป็นเรื่องดี และสะท้อนว่ารัฐบาลเห็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมองว่าบทบาทนโยบายการคลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ยอมรับว่าการดำเนินนโยบายการเงินจะต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ตาม การจะใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ หากมองว่าเศรษฐกิจแย่กว่าที่คาดการณ์เอาไว้นั้นเป็นข้อหนึ่งที่ได้สั่งการบ้านให้แก่ทีมงาน การเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะต้องเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการรัฐบาล ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารออมสิน และการผ่อนปรนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถนำเงินสำรองที่มีไปลงทุนเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นผลมาจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติระยะสั้น ซึ่งมาจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก ขอให้ผู้ส่งออก และนำเข้าปิดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าปัจจุบันเอกชนจะซื้อประกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่มีบางส่วนชะล่าใจ เพราะเชื่อว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียว โดย ธปท.จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้กระทบความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งขณะนี้ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับกลาง เมื่อเทียบกับเงินสกุลประเทศคู่แข่ง และในภูมิภาค
กำลังโหลดความคิดเห็น