xs
xsm
sm
md
lg

“วิรไท” ตั้งเป้าให้ ธปท.เป็นธนาคารระดับ World Class พร้อมใช้นโยบายการเงินดูแลเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าฯ คนใหม่ ตั้งเป้าให้ ธปท.เป็นธนาคารระดับ World Class และสานต่อแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 ห่วงจีดีพีไทยยังขยายตัวต่ำ พร้อมใช้นโยบายการเงินดูแลเศรษฐกิจ ส่วนค่าเงินบาทของไทยแม้จะมีความผันผวนบ้าง แต่มีความผันผวนน้อยกว่าเงินสกุลอื่น

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวในงาน “ผู้ว่าฯ ธปท. พบสื่อมวลชน” ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยระยะสั้นมีความเสี่ยงด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) มากกว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยจีดีพี 2-3 ปีข้างหน้ายังโตต่ำ หากเทียบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทาง ธปท.จะดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้เป็นอุปสรรค แต่ยอมรับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ 5-6 ปี จะทำให้ประชาชนไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง ฐานเงินออมประเทศต่ำ และอาจกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว

ส่วนเศรษฐกิจระยะกลางถึงระยะยาว จะมีการปรับโครงสร้างใหม่ เช่น การเพิ่มการลงทุนขนาดใหญ่ โครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาคุณภาพแรงงาน เพื่อเพิ่มการแข่งขันในอนาคต โดยสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ต้องยกระดับคุณภาพเกษตรกรไทย เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรมากกว่าการเพิ่มราคาสินค้าเกษตร

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยประกาศออกมา คาดว่าจะมีผลบวกต่อเศรษฐกิจในปี 2559 โดย ธปท.มองเศรษฐกิจปีหน้าจะร้อยละ 3.6-3.7 โดยมาจากเม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐ การส่งออกไปสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้น การท่องเที่ยวที่เติบโตสูง ขณะที่ปีนี้มองว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 ตามเป้าที่กำหนดไว้

ส่วนการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในการดูแลเศรษฐกิจ มองว่า ความเห็นต่างเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องปกติ และการแก้เศรษฐกิจไม่ได้มีสูตรเดียว ส่วนการทำงานของตนจะดำเนินการเหมือนผู้ว่าฯ ธปท.ในอดีต และจะพยายามทำตามหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ จะผลักดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นธนาคารกลางที่ยอมรับระดับสากล (World Class) และสานต่อแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3

สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป มี 3 ด้าน ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ ทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลักมีความผันผวน โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ซึ่งหากมองพื้นฐานเศรษฐกิจไทย พบว่า ยังแข็งแกร่ง และรองรับกรณีเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ โดยเฉพาะด้านเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 6 ของจีดีพี แม้อาจมีเงินทุนไหลออกบ้าง แต่หากเทียบกับดุลบัญชีเดินสะพัดยังต่ำ ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ถือครองพันธบัตรไทยมีร้อยละ 8-9 การพึ่งพาเงินต่างประเทศยังต่ำมาก ส่วนค่าเงินบาทของไทยแม้จะมีความผันผวนบ้าง แต่มีความผันผวนน้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ เพราะบางประเทศ เช่น มาเลเซีย ได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันที่ปรับลง
กำลังโหลดความคิดเห็น