xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ เผยร่าง พ.ร.บ.กนอ.-เขต ศก.พิเศคืบ ย้ำ “กนอ.” ยังคงสถานะเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรมเผยร่าง พ.ร.บ. “กนอ.” และร่างเขตเศรษฐกิจพิเศษคืบหน้า เตรียมส่งให้กฤษฎีกาก่อนเสนอ “สนช.” ต่อไป โดย “กนอ.” ยังคงสถานะเดิมไม่เปลี่ยน แต่เพิ่มอำนาจให้บริการเบ็ดเสร็จครบวงจรในการดึงดูดการลงทุน ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษคงให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดบังคับใช้กฎหมายในเขต ศก.พิเศษ 9 ฉบับ

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ……และร่างพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่…) พ.ศ….เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าต้องมีการสร้างความเข้าใจในนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจ โดยรัฐบาลจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขก่อนประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่…) พ.ศ…คือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สามารถดำเนินกิจการต่างๆ ได้กว้างขวางมากขึ้น มีความสามารถในการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการอนุญาตครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งสามารถถือกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดเพื่อประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม และให้การนำของเข้ามาในประเทศ หรือนำวัตถุดิบภายในประเทศเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเพื่อพาณิชยกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งออก จะได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

นอกจากนี้ กนอ.ยังคงสภาพเดิมอยู่ต่อไป เพราะปัจจุบัน กนอ.มีการพัฒนาและการดำเนินการที่เจริญเติบโตขึ้นจากเดิมมาก และมีนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นของ กนอ.เอง จำนวน 10 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานอีก 45 แห่ง รวมเป็น 55 แห่ง ที่ต้องบริหารจัดการ และมีแนวโน้มที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น ถ้าจะต้องมีองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่โดยไม่ต้องแปรสภาพกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมฯ ก็จะเป็นแนวทางที่ดีกว่า

ส่วนร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ….ได้มีการกำหนดนิยามของคำว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ หมายถึง เขตพื้นที่เฉพาะที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) เพื่อให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอันจำเป็นและการให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จในเขตพื้นที่ นอกจากนี้ ยังให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 9 ฉบับ ได้แก่ 1. กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 2. กฎหมายว่าด้วยโรงงาน 3. กฎหมายว่าด้วยผังเมือง 4. กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว เฉพาะมาตรา 46 5. กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เฉพาะการขออนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป 6. กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน 7. กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข 8. กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร และ 9. กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
กำลังโหลดความคิดเห็น