xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ เผยเหมืองแร่โปแตชช่วยเกษตรกรไทยใช้ปุ๋ยถูกลง 20%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรมเผยโครงการเหมืองแร่โปแตชสามารถผลิตปุ๋ยโพแทสได้ 1.2 ล้านตันต่อปี ชี้ทดแทนการนำเข้ากว่า 700,000 ตันต่อปี คาดช่วยเกษตรกรไทยใช้ปุ๋ยถูกลง 20% เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรของไทย

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท อาเซียนโปแตช ชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้มีกำลังการผลิตแร่โปแตช 1.2 ล้านตันต่อปี อุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกและกำลังก้าวสู่การเป็นครัวของโลก

ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่สำหรับการเกษตรกรรมประมาณ 105 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 32.7 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีการนำเข้าปุ๋ยปีละประมาณ 4 ล้านตัน มูลค่า 60,000 ล้านบาท เป็นปุ๋ยโพแทสเซียมประมาณ 700,000 ตัน คิดเป็น 9,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ แร่โปแตชที่ผลิตได้จากโครงการเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทยประมาณร้อยละ 90-95 จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นปุ๋ยโพแทสเซียมเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไทยได้ใช้ปุ๋ยโพแทสในราคาที่ถูกลงประมาณร้อยละ 20-25 และจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันด้านสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้อย่างมีศักยภาพ
อุโมงเหมืองแร่โพแทช ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด
สำหรับแร่โปแตชส่วนที่เหลือสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นได้อีก เช่น อุตสาหกรรมสบู่ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมฟอกย้อม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยได้อีกทางหนึ่ง

ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีการประเมินเชิงศักยภาพแหล่งแร่ มีปริมาณสำรองประมาณ 407,000 ล้านตัน แบ่งเป็นแร่โปแตชคุณภาพดีหรือแร่โปแตชชนิดซิลไวต์ประมาณ 7,000 ล้านตัน และแร่โปแตชคุณภาพรองลงมาหรือแร่โปแตชชนิดคาร์นัลไลต์ประมาณ 400,000 ล้านตัน ทั้งนี้ ปริมาณสำรองแร่ที่สำรวจพบดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแบ่งเป็น 2 แอ่ง ได้แก่ แอ่งสกลนครครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 17,000 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่จังหวัดสกลนคร นครพนม หนองคาย และอุดรธานี และแอ่งโคราช ครอบคลุมพื้นที่ 33,000 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น