“เอสเอ็มอี แบงก์” เปิดตัวสินเชื่อ Soft Loan เฟส 3 ดอกเบี้ยต่ำ 4% เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล แจงเงื่อนไขกู้สูงสุด 15 ล้านบาท ชำระคืน 7 ปี ไม่ต้องจ่ายเงินต้นนาน 12 เดือนแรก ระบุเปลี่ยนตัวประธานไม่มีผลต่อการทำงาน
วันนี้ (29 ส.ค. 2559) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอี ดีเวลลอปเมนต์แบงก์ (SME Development Bank) จัดงานเปิดตัวโครงการสินเชื่อ Soft Loan ระยะที่ 3 ดอกเบี้ยต่ำ 4% เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบการ SMEs กรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล โดยมีนางพรรณขนิตตา บุญครอง ประธานกรรมการบริหาร และนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอี ดีเวลลอปเมนต์แบงก์ ร่วมเปิดงาน พร้อมหน่วยงานพันธมิตร ผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าร่วมงาน ซึ่งเป็นงานจัดต่อเนื่องทั่วประเทศหลังจากได้เปิดตัวสินเชื่อดังกล่าวไปแล้วในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ทั่วประเทศ
นายมงคลกล่าวว่า สำหรับสินเชื่อ Soft Loan 3 ดังกล่าว มีเงื่อนไขสุดพิเศษวงเงินกู้สูงได้ถึง 90% ของใบสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ ดอกเบี้ยต่ำเพียง 4% ต่อปีตลอดอายุสัญญา กู้สูงสุดถึง 7 ปี ไม่ต้องจ่ายเงินต้นนาน 12 เดือน กู้ได้สูงสุดถึง 15 ล้านบาท และหากกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ไม่ต้องประเมินราคาและไม่ต้องจดจำนองเครื่องจักร สามารถใช้ บสย.ค้ำประกันร่วมกับการจดแจ้งหลักประกันตาม พ.ร.บ.หลักประกันธุรกิจได้ เชื่อว่าสินเชื่อดังกล่าวจะตอบสนองความต้องการผู้ประกอบการ SMEs ได้ตรงใจ สามารถช่วยให้กิจการเดินหน้าขยายกำลังการผลิตให้ธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้นำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออีกหลากหลายประเภทเพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการขยาย หรือปรับปรุงกิจการ อาทิ สินเชื่อ SMEs บัญชีเดียว สนับสนุนผู้ประกอบการที่จดแจ้งบัญชีเดียวตามนโยบายรัฐบาล สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan สนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ที่ทำธุรกิจไม่เกิน 3 ปีและมีนวัตกรรม หรือผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการต่อยอดธุรกิจขยายตลาดไปสู่ AEC โดยภายในงานธนาคารได้เปิดบูธรับคำขอกู้และให้บริการปรึกษาแนะนำ และมีบริการตรวจข้อมูลเครดิตบูโรฟรี บสย.ให้คำปรึกษาเรื่องการค้ำประกัน รวมถึงเอ็กซิมแบงก์ให้บริการสินเชื่อด้านการส่งออกเพื่อ SMEs ด้วย
ด้านนางพรรณขนิตตา บุญครอง ประธานกรรมการบริหารฯ กล่าวว่า แม้จะมีการเปลี่ยนประธานกรรมการจากนางสาลินี วังตาล เป็นนายสมชาย หาญหิรัญ ก็ไม่มีผลต่อการดำเนินนโยบายของเอสเอ็มอีแบงก์ที่ดูแลและให้สินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีรายย่อยที่ไมเกิน 15 ล้านบาท พร้อมมั่นใจว่าจะสามารถหลุดจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในปีนี้เพราะจะสามารถบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้ไม่เกิน 18,000 ล้านบาทได้
ส่วนประธานกรรมการคนใหม่เชื่อว่าจะเข้ามาสานต่อนโยบายการทำงานเดิมที่มีอยู่ได้ และขณะนี้ยังมีกรรมการคณะเดิมร่วมทำงานอยู่จึงไม่มีปัญหา ที่ผ่านมานางสาลีนีได้สร้างความแข็งแกร่งให้แก่เอสเอ็มอีแบงก์มาแล้ว แต่ขณะนี้นางสาลีนีต้องเข้าไปดูแลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.เต็มตัว ซึ่งอาจทำให้ทำงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
ทั้งนี้ ปีนี้เอสเอ็มอีแบงก์ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อให้ได้ 35,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ปล่อยไปแล้ว 18,000 ล้านบาท และลดเอ็นพีแอลให้เหลือ 18,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 19,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 21 ของสินเชื่อ รวมที่ 88,000 ล้านบาท
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *