xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ลั่นแจ้งเกิด Start Up สำเร็จ 15,000 ราย ดึง 3 แบงก์ให้เงินทุนเริ่มธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาลินี วังตาล (ที่ 3 จากขวา) ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวในงานแถลงความคืบหน้าโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up)
สสว.เผยความคืบหน้าโครงการปั้น ผปก.หน้าใหม่ และ Start Up มีผู้สมัครแล้วกว่า 11,004 ราย และผ่านการคัดเลือกรอบแรกเข้าสู่เฟส 2 จำนวน 1,406 ราย พร้อมดึง 3 สถาบันการเงิน ได้แก่ ออมสิน ธกส. และเอสเอ็มอีแบงก์ หนุนเงินทุนเริ่มธุรกิจสำหรับหน้าใหม่ ประกาศเป้าภายใน 3 ปี ปั้นสำเร็จกว่า 15,000 ราย

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวในงานแถลงความคืบหน้าโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ว่าจากที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ที่มีนวัตกรรม ตั้งเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ ภายใต้งบประมาณ 200 ล้านบาท ไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย ระหว่างปี 2559-2561 สสว.จึงร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 มหาวิทยาลัย อบรมผู้ประกอบการ Start Up ตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม 2559 ซึ่งเพียงเดือนกรกฎาคม2559 มีผู้สนใจสมัครเข้ารับการบ่มเพาะแล้วรวมทั้งสิ้น 11,004 ราย

โดยบุคคลที่สมัครร่วมโครงการจำแนกตามสถานะ 1. บุคคลทั่วไป ทำธุรกิจอยู่แล้ว (ไม่ได้จดทะเบียน) 30.55% 2. บุคคลทั่วไป ยังไม่ได้ทำธุรกิจ 29.87% 3. นิสิต/นักศึกษา 22.93% 4. ธุรกิจจดทะเบียน ที่ไม่เกิน 3 ปี (ยกเว้นนิติบุคคล) 10.66% และ 5.วิสาหกิจชุมชน 5.99%

ทั้งนี้ บุคคลที่เข้าร่วมโครงการ จำแนกตามประเภทธุรกิจที่ให้ความสนใจ 1. ภาคการผลิต 51.05% 2. ภาคการบริการ 31.58% และ 3. ยังไม่ตัดสินใจ 17.38%

นางสาลินีกล่าวต่อว่า ช่วงต่อไปจะเริ่มเข้าสู่เฟสที่ 2 เพื่อฝึกให้เป็นผู้ประกอบการจริง จำนวน 1,406 ราย หลังจากบ่มเพาะไปแล้วช่วงแรก การอบรมเน้นให้เข้าใจหลักธุรกิจเบื้องต้น เพื่อสร้างให้เกิดจิตสำนึกการเป็นผู้ประกอบการ รู้จักการจัดทำแผนการเริ่มธุรกิจ เพื่อนำแผนธุรกิจไปปฏิบัติจริง

ในโครงการนี้เพื่อจะช่วยเหลือให้ครบวงจร เพื่อสร้างให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ได้เชิญนักธุรกิจรายใหญ่ในท้องถิ่นมาเป็นพี่ช่วยงานในโครงการจากสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นอกจากนั้น ด้านการเงินทาง สสว.ประสาน 3 สถาบันการเงิน ทั้งเอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้การสนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน ซึ่งตั้งเป้าหมายภายในเดือนมีนาคม 2560 จะสามารถผลิตผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย

ผอ.สสว.กล่าวด้วยว่า การดึงผู้ประกอบการรายใหญ่มาเป็นพี่เลี้ยงและช่วยขยายตลาด เพื่อช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ และ Start Up ลดความเสี่ยงที่กิจกรรมจะล้มเหลว โดยโครงการฯ นี้จะดำเนินการต่อเนื่องกันไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2561 ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 ได้รับจัดสรรงบดำเนินโครงการนี้ประมาณร้อยกว่าล้านบาท และตั้งเป้าที่จะสร้างให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีนวัตกรรมและ Start Up เป็นที่ต้องการของตลาดปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 และเมื่อครบ 3 ปีของโครงการจะเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีนวัตกรรมและ Start Up ไม่ต่ำกว่า 15,000 ราย

ด้านนายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ เผยว่า ทางธนาคารฯ ได้เตรียมสินเชื่อเพื่อรองรับกลุ่มผู้ประกอบการใหม่และ Start Up ได้แก่ สินเชื่อ Policy Loan ดอกเบี้ยร้อยละ 4 เหลือเงิน 1,800 ล้านบาท และสินเชื่อเอสเอ็มอีบัญชีเดียว วงเงิน 10,000 ล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 4,000 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ดอกเบี้ย 4% อีกทั้งยังมีกองทุนร่วมลงทุนของเอสเอ็มอีแบงก์ รายละ 30 ล้านบาท

นางดลนภา วงษ์เทวัญ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารธุรกิจ สินเชื่อธุรกิจและภาครัฐ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารฯ พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ให้สินเชื่อระยะเวลา 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.99% คงที่ 2 ปี สินเชื่อบัญชีสีขาว ดอกเบี้ย 4.99% รวมถึงสินเชื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ดอกเบี้ย 4% ทั้งนี้ ธนาคารจะมีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ เพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่แม้จะมีความเสี่ยงสูงให้สามารถเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น เพื่อเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น