xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ อัดงบ 50 ล้าน ปั้นนักออกแบบ SME ยุคใหม่ รองรับไทยแลนด์ 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชาย หาญหิรัญ  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยแผนพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 มุ่งเป้าไปที่การยกระดับ SME และ OTOP โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้จัดสรรงบกว่า 80 ล้านบาท นำร่องด้วยกิจกรรม ปั้นนักออกแบบยุคใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น คาดใช้งบกว่า 50 ล้านบาท

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึง แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย เพื่อก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้นจะมุ่งเป้าไปที่การยกระดับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม SME และ OTOP ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มพร้อมไปกับพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นลักษณะของ OEM (Original Equipment Manufacturer) รับจ้างผลิต เป็น ODM( Original Design Manufacturer) ซึ่งการจะพัฒนาดังกล่าวได้จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้จัดทำโครงการ ยกระดับผลิตภัณฑ์ SMEs สู่ตลาดโลก (Global Reach) 2559 ขึ้น
การลงนาม ร่วมกัน
สำหรับโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จำนวนเงิน 80 ล้าน ซึ่งได้นำร่องด้วยการยกระดับการออกแบบอุตสาหกรรมในสาขาแฟชั่น ประกอบด้วย สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังกระเป๋า รองเท้า อัญมณี เครื่องประดับ ภายใต้กิจกรรม สร้างนักออกแบบ Innoneering designers ยุคใหม่” โดยมีสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอรับหน้าที่ในการดูแลเป็นที่ปรึกษา กิจกรรมดังกล่าวนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไทยมีรายได้จากการส่งออกสินค้าในกลุ่มอัญมณี เครื่องประดับ สิ่งทอ เครื่องหนัง มากถึง 6 แสน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาชอปปิ้งในประเทศไทย โดยเฉพาะการซื้ออัญมณี เครื่องประดับมากถึง 25% ของรายได้ที่ส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับที่มีมากถึง 4 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งกลุ่มที่จำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ให้กับนักท่องเที่ยวบางส่วนจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบSME และ OTOP แต่ข้อจำกัดของ ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ คือ ยังขาดศักยภาพด้านการตลาด และการออกแบบ
แฟชั่น และวัตถุดิบที่ได้รับการพัฒนา และนำมาโชว์ในงาน
ดังนั้น การยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ต้นน้ำ วัตถุดิบ กลางน้ำ นักออกแบบ และปลายน้ำ การตลาด ทำงานร่วมกัน ไม่เฉพาะอัญมณี เครื่องประดับ แต่สินค้าในกลุ่มสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง ก็เช่นเดียวกัน อาทิ การพัฒนาเส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ไทยสามารถพัฒนาเส้นใยที่มีคุณภาพ เมื่อเทียบกับในภูมิภาคเดียวกัน เราถือว่าเป็นผู้นำในกลุ่มนี้ แต่ก็ยังแพ้สิงคโปร์ในด้านการออกแบบ และการตลาด

“ที่ผ่านมา ข้อจำกัดของ SME มองการตลาดไม่ทัน ซึ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่น การตลาดค่อนข้างซับซ้อนมากกว่า อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สำคัญผู้บริโภคเปลี่ยนไปเร็วมาก ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ถ้าเป็น SME หรือ OTOP โอกาสที่จะแข่งขันทำได้ยาก ในส่วนของภาครัฐเองก็ยังไม่มีประสบการณ์มากเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้น ตามที่รัฐบาลมีโครงการพี่ช่วยน้องในส่วนนี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัทขนาดใหญ่ หรือแบรนด์ดังที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ระดับนานาชาติให้เข้ามาช่วย ซึ่งมีแบรนด์ดังให้การตอบรับที่จะมาช่วยตรงนี้กว่า 20 ราย”

ด้านนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังได้จัดให้มีงานการประชุมนานาชาติด้านการออกแบบแฟชั่น (International Fashion Co-Design : IFCD) ภายใต้แนวคิด Ride the Power of Asia เพื่อแสดงศักยภาพ และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางการออกแบบในเอเชียซึ่งมีนักออกแบบชื่อดังระดับโลกจากหลายประเทศ เดินทางเข้าร่วมเวทีการประชุมในครั้งนี้ โดยงานจัดให้มีขึ้นระหว่าง วันที่ 22-23 สิงหาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สามารถสำรองที่นั่งโดยขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 09-3263-6111

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *





กำลังโหลดความคิดเห็น