กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดผลสำรวจการเกิดเหตุภาวะฉุกเฉินจากการประกอบกิจการโรงงานรอบ 6 เดือน (ต.ค. 58-มี.ค. 59) แนวโน้มลดลง โดยเพลิงไหม้เกิดมากสุด รองลงมาเป็นอุบัติเหตุ โดยกรุงเทพมหานครเกิดภาวะฉุกเฉินมากสุดจากเพลิงไหม้
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลสำรวจการเกิดเหตุภาวะฉุกเฉินจากการประกอบกิจการโรงงานในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม 2558 ถึงมีนาคม 2559 พบว่ามีการแจ้งเหตุภาวะฉุกเฉินทั้งสิ้น 98 เรื่อง แบ่งเป็น เพลิงไหม้มากที่สุด 68 เรื่อง รองลงมาคือ อุบัติเหตุ 16 เรื่อง, สารเคมีรั่วไหล 8 เรื่อง, ชุมนุมคัดค้าน 5 เรื่อง และเหตุระเบิด 1 เรื่อง หรือคิดเฉลี่ย 16 เรื่อง ต่อเดือน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในรอบ 6 เดือนของปีที่ผ่านมาที่มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นเฉลี่ย 17 เรื่องต่อเดือน
“เหตุภาวะฉุกเฉินลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุภาวะฉุกเฉินอาจเนื่องมาจากอุบัติเหตุ ความประมาทของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือการที่โรงงานไม่ได้ตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ให้มีความพร้อมใช้งาน ไม่มีแผนรองรับเหตุภาวะฉุกเฉิน การจัดเตรียมระบบความปลอดภัยของอาคารสถานที่ทำงานที่ไม่ถูกต้อง ขาดความชำนาญในการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร และส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานเก่าที่มีอายุมากกว่า 10 ปีและเป็นโรงงานขนาดเล็กระดับเอสเอ็มอี สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือแนวโน้มของการเกิดเหตุภาวะฉุกเฉินโดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุและเรื่องชุมนุมคัดค้าน ซึ่งเมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่จะมีการแจ้งเหตุให้ผู้บริหารกระทรวงฯ ทราบทันที และร่วมแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายหรือยุติโดยเร็ว” นางอรรชกากล่าว
โดยจังหวัดที่เกิดเหตุภาวะฉุกเฉินมีทั้งสิ้น 34 จังหวัด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 12 เรื่อง (เพลิงไหม้) จังหวัดชลบุรี จำนวน 9 เรื่อง (เพลิงไหม้) และ จังหวัดระยอง และสมุทรปราการ จำนวน 8 เรื่อง (เพลิงไหม้ และอุบัติเหตุ) ส่วนอีก 43 จังหวัด ไม่มีเหตุภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้น
นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความปลอดภัยถือเป็นเรื่องสำคัญในการประกอบกิจการโรงงานที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงให้มาก เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งต่อทรัพย์สินและตัวผู้ประกอบการ โรงงาน พนักงาน ประชาชนข้างเคียง รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทุกโรงงานควรให้ความรู้เรื่องการป้องกันและแก้ไขการเกิดภาวะฉุกเฉินเบื้องต้นแก่เจ้าหน้าที่ทุกคน เพราะหากเกิดเหตุอันตรายขึ้น ทุกคนในองค์กรจะสามารถช่วยกันได้ และทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมทุกจังหวัด แจ้งเตือนผู้ประกอบการให้ระมัดระวังการประกอบกิจการเป็นระยะเพื่อเป็นการป้องกันอีกทางหนึ่ง”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรอ. ได้มีมาตรการเชิงรุกเพื่อลดจำนวนการเกิดอัคคีภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เป้าหมายมุ่งเน้นใน 8 โรงงานกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมสิ่งทอและเส้นใย 2) อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ 3) อุตสาหกรรมพลาสติก โฟม กระดาษ ยาง 4) อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ปิโตเคมี สารเคมี 5) อุตสาหกรรมสี 6) อุตสาหกรรมกากหรือขยะ 7) อุตสาหกรรมอาหาร และ 8) อุตสาหกรรมโกดังและสินค้า และได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและการพัฒนาความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม นำร่องในกลุ่ม SMEs 41 โรงงาน ในพื้นที่ 14 จังหวัด การจัดทำแบบตรวจสอบประเมินตนเอง หรือ Self Checklist ส่งให้โรงงานในกลุ่มเสี่ยงเพื่อประเมินตนเองเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยในโรงงาน การออกข้อกำหนดให้โรงงานที่มีความเสี่ยงต้องมีบุคลากรด้านความปลอดภัยประจำโรงงาน เป็นต้น