xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์น้ำท่วมเจ้าพระยา สถานการณ์ของความ (ไม่) เข้าใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ฝนตกน้ำหลาก และมีคนถ่ายภาพน้ำกำลังไหลลงอาคารระบายน้ำล้นอัตโนมัติ (Spillway) ของเขื่อนในพื้นที่ อ.สันติสุข จ.น่าน แล้วโพสต์ออกไปว่าเขื่อนแตกแล้ว คนรับข้อมูลนี้ด้วยอารามตกใจก็แชร์ไปโพสต์ต่อ กว่าจะรู้ว่าแท้จริง Spillway เป็นทางระบายน้ำล้นอัตโนมัติ เมื่อนั้นข่าวและภาพก็ไปไกล สร้างความตื่นกังวลกันได้มากมาย

เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่โพสต์กันว่าน้ำท่วมพื้นที่ตรงนั้นตรงนี้ จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ แชร์และส่งต่อก็ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาดูวิกฤต น่าห่วงขึ้นมาในทันที

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทานใหม่หมาด อธิบายว่า พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูน้ำหลาก โดยปกติก็มีท่วมในบางจุดที่เป็นที่ลุ่มต่ำอยู่แล้ว เช่น พื้นที่นอกคันกั้นน้ำเจ้าพระยา

“คนริมน้ำรุ่นปู่ย่าตาทวดเขารู้ว่าเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำหลากมาก็ท่วมจึงสร้างบ้านยกเป็นเสาสูง แล้วก็เลิกทำนาชั่วคราวหันมาจับปลาแทน แต่พอมาหลังๆ ยุคลูกหลานมักต่อเติมเพิ่มพื้นที่ใช้สอย หรือสร้างใหม่เป็นสองชั้น น้ำก็ท่วมชั้นล่าง เดือดร้อนกันเพราะไม่เข้าใจธรรมชาติของพื้นที่และน้ำ”

อธิบดีกรมชลประทานยังกล่าวด้วยว่า ปกติในต่างประเทศเขาห้ามก่อสร้างบ้าน หรือชุมชนนอกคันกั้นน้ำเด็ดขาด “เพราะเขามองว่าอันตรายและกีดขวางทางน้ำ แต่บ้านเราไม่ห้ามเพราะเขาอยู่ของเขามานาน และเขาก็รู้วิธีการรับมือของเขาดีอยู่แล้ว”

ส่วนคันกั้นน้ำนั้นเป็นความพยายามของกรมชลประทานในการแบ่งพื้นที่น้ำท่วมริมฝั่ง ไม่ให้ล้นไปท่วมพื้นที่ในคันกั้นน้ำซึ่งเป็นบ้านเรือน ชุมชน และที่ทำกินทางการเกษตรผืนใหญ่ เพราะถ้าน้ำล้นคันจะส่งผลกระทบในวงกว้างและรุนแรง หมายถึงความเสียหายตพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่ทำกินทางการเกษตร

“ตัวคันกั้นน้ำเกิดขึ้นจากการขุดคลองส่งน้ำ ขนานไปกับลำน้ำเจ้าพระยา ดินที่ขุดก็ทำเป็นแนวคันกั้นน้ำ และใช้เป็นถนนสัญจรไปในตัว”

เช่นเดียวกับริมแม่น้ำเจ้าพระยารอบเกาะเมืองอยุธยา หรือริมแม่น้ำน้อย ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่น้ำท่วมทุกครั้งที่หลากมา ถือเป็นธรรมชาติ ขนาดพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยายังต้องถอยทัพกลับบ้านทุกครั้ง จนสุดท้ายแก้กลน้ำท่วมโดยอพยพไปอยู่บนที่ดอนและทำนาจึงเอาชนะกรุงศรีอยุธยาได้

“ถ้าฤดูน้ำหลากปีไหน น้ำไม่ท่วมรอบๆ เกาะเมืองอยุธยา ไม่ท่วมโผงเผง แสดงว่าผิดธรรมชาติเอามากๆ”

ส่วนการบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยา นายสัญชัยกล่าวว่า กรมชลประทานระมัดระวังเป็นทุนอยู่แล้ว และใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เช่น พยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในการคาดหมายปริมาณฝน การตั้งเครื่องมือวัดปริมาณฝนเปรียบเทียบคำพยากรณ์ การคำนวณปริมาณน้ำท่า การเดินทางของมวลน้ำ ขีดความสามารถในการรับน้ำในลำน้ำแต่ละช่วง และฯลฯ เป็นต้น

“ตอนนี้ที่ออกข่าวในสื่อโซเชียลฯ ว่าน้ำจะท่วมใหญ่ ถ้าดูจากข้อมูลและการเฝ้าติดตามบอกได้ว่ายังรับมือได้ เว้นแต่ฝนตกหนักๆ จากพายุเข้ามาก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ปลายเดือนตุลาคม ก็เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวหรือแล้งแล้ว ซึ่งเราเองก็ต้องระวัง ถ้าพร่องระบายไปเยอะๆ เกิดฝนไม่ตก ก็สูญเสียน้ำไปฟรีๆ แล้วกระทบต่อฤดูแล้งที่จะเริ่มต้นตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนปีนี้ จนถึง 30 เมษายนปีหน้า”

อย่างไรก็ตาม นายสัญชัยกล่าวว่า กรมชลประทานเองพยายามหาทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนและพื้นที่การเกษตร โดยมอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาหาทางเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดีขึ้น ทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก เช่น การขุดอุโมงค์ระบายน้ำ 3 สายทางฝั่งตะวันตก หรือการขยายขีดความสามารถในการรับน้ำของคลองระพีพัฒน์และโครงข่ายระบบชลประทาน เพื่อระบายน้ำได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น แต่ประชาชนในพื้นที่เองก็ต้องร่วมมือกันด้วย โดยเฉพาะการรุกล้ำแนวคลอง ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะคาราคาซังต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น