อดีต ส.ส.นครนายก สวนทีม กม.เพื่อไทยป้ายสี รบ.อภิสิทธิ์ทำน้ำท่วม 54 แจงตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันเพื่อเตือน รบ.ใหม่ ยกหลักฐานที่เจ้าตัวอ้างวันที่มัด “ยิ่งลักษณ์” ต้องรับผิดชอบจัดการน้ำท่วม แต่กลับทุจริตงบช่วยเหลือ ปชช.มโหฬาร ไม่แสดงราคากลาง แถมใช้ระบบการระบายน้ำไม่ได้เต็มกำลัง จนเกิดอุทกภัยใหญ่ จี้ตามคดีขุดคลองสุวรรณภูมิยุคแม้ว กันน้ำท่วมสนามบินไม่ได้จริง
วันนี้ (5 ต.ค.) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาการศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำ และประธานคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ภาคกลางตอนตะวันออก รวม 13 จังหวัด สภาฯ กล่าวถึงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่าวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 เกิดจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้นว่า ช่วงนั้นเป็นการทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการชุดนายอภิสิทธิ์ โดยมติ ครม.นัดสุดท้ายเมื่อ 1 ส.ค. 2554 ได้สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาวาตภัย อุทกภัยและดินโคลนถล่ม เป็นการเตือนให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามารับงานเห็นถึงความสำคัญของปัญหาน้ำตั้งแต่เดือน ส.ค. หลังสภาลงมติเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ และมีประกาศโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 5 ส.ค. 2554 สอดคล้องกับหลักฐานที่นายเรืองไกรอ้างลงวันที่ 2 ส.ค. 2554 ทราบเป็นเอกสารรายงานสถานการณ์จะเกิดพายุโซนร้อนนกแตน ของรองเลขาธิการนายกฯ ต่อ รมว.มหาดไทย จึงเป็นการยืนยันของนายเรืองไกรที่ชี้ให้สังคมเห็นว่านับจากวันที่ 5 ส.ค. 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกฯ ต้องรับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำที่เกิดขึ้นทั้งหมด
“ขอให้นายเรืองไกรบอก ป.ป.ช.ด้วยว่า เมื่อรู้ว่าน้ำจะท่วมใหญ่ ใครเป็นคนสั่งการที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งที่ระบุยืนยันผ่านสื่อว่า “เอาอยู่” ซ้ำมีการใช้งบกลาง 1.2 แสนล้านบาท ใครเป็นคนอนุมัติ อ้างช่วยเหลือประชาชน แต่กลับเกิดการทุจริตครั้งมโหฬาร เงินก็ออก น้ำก็ท่วม ชาวบ้านอ่วม ความช่วยเหลือช่วยจริงหรือไม่ ใครรับผิดชอบ โดยเฉพาะกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 103/7-/8 บังคับให้ทุกโครงการต้องแสดงราคากลางให้สังคมรู้ แต่กลับไม่มีการปฏิบัติ จึงเป็นเหตุให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและถูกร้อง ถอดถอนจากตำแหน่งต่อ ป.ป.ช. ใช่หรือไม่” นายชาญชัยกล่าว
นายชาญชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ถามว่ามีการใช้ระบบการระบายน้ำในพื้นที่ทุ่งฝั่งตะวันออกตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยาตามแผนการระบายน้ำจริงหรือไม่ ที่กำหนดว่าจะสูบน้ำจากทางด้านใต้ของพื้นที่ทิ้งลงสู่ทะเลโดยตรง และทางตะวันออกจะลงสู่แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง ซึ่งมีถึง 11 สถานี คือ 3 สถานีลงแม่น้ำนครนายก 5 สถานีลงแม่น้ำบางปะกง 1 สถานีลงเจ้าพระยา และ 2 สถานีลงทะเลโดยตรง โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ปทุมธานีจะระบายผ่านคลองระพีพัฒน์ คลอง 1-17 คลอง 3-4 ประเวศ ส่วนพื้นที่ตอนล่างระบายผ่านคลองพระองค์ไชยานุชิต และคลองด่าน เป็นทางระบายหลักลงสู่ด้านใต้ และระบายออกสู่ทะเล ซึ่งระบบนี้ไม่ได้เปิดใช้ช่วยระบายน้ำเต็มกำลัง จนทำให้เกิดมหาอุทกภัยใหญ่ในปี 2554 ในพื้นที่ปริมณฑลและ กทม.โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี
“อีกสาเหตุใหญ่คือ โครงการขุดคลองสุวรรณภูมิ ที่เริ่มในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น รมว.เกษตรฯ ขณะนั้น มีการทำผิด พ.ร.บ.ฮั้วและราคากลาง โดยมีการกำหนดราคากลางเกินจริงตามที่ สตง.ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดี ตามเอกสารที่ตผ./0018/317 ลงวันที่ 6 ธ.ค. 2550 แต่จนถึงวันนี้คดียังไม่คืบหน้าขอให้นายเรืองไกรช่วยติดตามเรื่องนี้จาก ป.ป.ช.ด้วย และขอฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ตรวจสอบโครงการคลองสุวรรณภูมิและทดสอบการทำงานของระบบระบายน้ำฝั่งตะวันออกไปสู่ปากน้ำสมุทรปราการ เพราะโครงการนี้ตั้งต้นที่วงเงิน 5 พันล้าน ตามมติ ครม.เมื่อ 11 พ.ย. 2546 ใช้วิธีพิเศษจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ และก่อสร้างแบบดีไซน์แอนด์บิวร์ คือออกแบบไป สร้างงานไป อ้างว่าไม่สามารถเขียนแบบก่อสร้างได้ 100% เพราะต้องใช้วิทยาการก่อสร้างแบบใหม่ที่ต้องซื้อจากต่างประเทศ จนเมื่อสร้างเสร็จจบโครงการใช้เงินไปรวมแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท” นายชาญชัยกล่าว
นายชาญชัยกล่าวอีกว่า ถ้าอ้างว่าโครงการคลองสุวรรณภูมิสามารถป้องกันน้ำท่วมสนามบินสุวรรณภูมิและพื้นที่โดยรอบรวม 632 ตารางกิโลเมตรตามที่อ้างจากเอกสารของบริษัทที่ปรึกษาและออกแบบสร้าง แล้วทำไมเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา กลับเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในสนามบินสุวรรณภูมิโดยท่วมทั้งลานบินและน้ำไหลบ่าลงมาท่วมลานจอดรถชั้น 1 จนผู้โดยสารต้องขนสัมภาระหนีน้ำไปอยู่ที่ชั้น 4 ซ้ำยังมีการปิดข่าวไม่ให้เผยแพร่ในสื่อสารมวลชนแขนงใดเลย แต่ตนมีภาพถ่ายของเจ้าหน้าที่ ทอท. ที่อยู่ในเหตุการณ์ส่งมาให้ ตามที่แสดงต่อสื่อจึงขอให้นายกฯ ทดสอบการทำงานของระบบระบายน้ำในคลองสุวรรณภูมิ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของระบบ รวมถึงผู้บริหารการท่าอากาศยาน (ทอท.) และกรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบว่ามีความพร้อมในการรองรับสถานการณ์หรือไม่ อย่างไร