xs
xsm
sm
md
lg

รอยล แจงต้องยึดแนวพระราชดำรัส “ในหลวง” แก้วิกฤตน้ำท่วมได้ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดร.รอยล จิตรดอน แจงการบริหารจัดการน้ำได้แบบยั่งยืน ต้องน้อมนำพระราชดำรัสในหลวงมาปฏิบัติ “เวลาคิดให้คิดแมคโคร (Makro) แต่เวลาทำให้ทำไมโคร (Micro)” ถึงจะสัมฤทธิผล ชี้การเพิ่มอุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งเป็นการลงทุนระบบหลัก ไม่อาจแก้ปัญหาได้ เพราะมีคอขวดเต็มไปหมด ขณะที่ประชาชนจะตื่นตระหนก “กลัวน้ำท่วมบ้าน” จับตาช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนแนะนำแอปพลิเคชัน Thai Water ตรวจสอบสภาพอากาศล่วงหน้า 3 วันได้แม่นยำ ช่วยวางแผนการเดินทางในช่วงฤดูฝนได้เป็นอย่างดี

ฝนที่กระหน่ำลงมาหลายระลอกในปีนี้ ส่งผลให้ถนน บ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทย จมน้ำ และหลายครั้งที่ฝนตกลงมา ถนนหลายสายของกรุงเทพมหานครเอง ก็เปลี่ยนสภาพกลายเป็นคลองไปในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งภาพที่เกิดขึ้นนี้ สร้างความวิตกกังวลกันว่า จะเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ ซ้ำรอยปี 2554 อีกครั้งหรือไม่

ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) อธิบายถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่า สถานการณ์น้ำท่วมตามหัวเมืองต่างๆ นั้น เป็นน้ำรอการระบายที่ต้องรีบแก้ไขตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเน้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

ส่วนภาพน้ำในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณมากในปีนี้ ถือว่าเป็นสถานการณ์ปกติ เพราะต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า ฤดูฝนที่เริ่มตกล่าช้ามาจนถึงประมาณเดือนมิถุนายน ดังนั้นการทำนาข้าวที่ปลูกจึงล่าช้ากว่าปกติประมาณเดือนเศษ และทำให้การเก็บเกี่ยวช้าลงไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ช่วงเดือนกันยายนของทุกปีข้าวควรจะเกี่ยวหมดแล้ว เพราะถ้าเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยตามฤดูกาล น้ำที่ระบายมาจากเจ้าพระยา จะสามารถผันลงทุ่งได้

ขณะนี้มีบางทุ่งที่เก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างกรมชลประทานประสานงานเพื่อผันน้ำลงทุ่ง อย่างไรก็ตามยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่ยอมรับในกติกา และยังคงปลูกกันไม่เลิก ซึ่งเป็นหัวใจที่ทำให้เกิดปัญหา มีการติดขัดอย่างมาก และนำน้ำเข้าทุ่งไม่ได้สำเร็จทั้งหมด
กรมชลประทานนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งที่ตำบลโพนางดำตก,ตลุก,เจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพื่อสูบน้ำช่วยเหลือชาวนา (3 ต.ค. 2559)
แก้ปัญหาน้ำคิดแบบแมคโครแต่ทำแบบไมโคร

ดร.รอยล กล่าวถึงนโยบายแก้ปัญหาน้ำแบบยั่งยืนสำหรับประเทศไทย ที่เผชิญทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งเกือบทุกปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงวางรากฐานมาให้ตลอดกว่า 60-70 ปี ดังนั้นประเทศไทยมีที่ดีและมีศักยภาพอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเปลี่ยน คือ ความคิดในแบบเดิมๆ ที่เน้นเรื่องโครงสร้างมาเป็นการมองอุปสรรคแบบภาพรวมและภาพย่อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยรับสั่งว่า “เวลาคิดให้คิดแมคโคร (Makro) แต่เวลาทำให้ทำไมโคร (Micro)” ซึ่งปัจจุบันนี้เรายังคิดแบบ “แมคโคร และทำแบบแมคโคร”

เห็นได้จากการแก้ปัญหาในสถานการณ์น้ำท่วมในหัวเมือง ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ยังไม่ให้ความสำคัญในส่วนของไมโคร ในที่นี้คือ การบริหารจัดการน้ำตามถนนและซอยต่างๆ ยังน้อยเกินไป ซึ่งต้องหาจุดคอขวดให้เจอ

“จนถึงวันนี้เราต้องทบทวนว่า จะเดินไปสู่การบริหารจัดการได้อย่างไร เราจะสร้างโครงสร้างต่อ หรือจะถอยไปมองเรื่องการบริหารจัดการ เพื่อความเข้าใจถึงปัญหาให้มากขึ้น และการแก้ไขที่ดีขึ้น”

ภาพสะท้อนที่ชัดเจนจะเห็นได้ถึงการแก้ปัญหาในเมือง ที่มีการลงทุนสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ด้านฝั่งตะวันออกไปถึง 7 แห่ง แต่พบว่ายังไม่มีอุโมงค์ทางฝั่งตะวันตก (ธนบุรี) เลย ซึ่งก็ยังไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง เนื่องจากมีคลองจำนวนมากที่นำมาใช้ได้ดีสำหรับการระบายน้ำ ตั้งแต่คลองลัดมะยมที่ฟื้นขึ้นมาได้สำเร็จ คลองทวีวัฒนา และคลองราชมนตรีที่ปัจจุบันดีขึ้นมาก ทำให้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้อย่างดี
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าว ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2560
ดังนั้นคงถึงเวลาที่ต้องพิจารณาว่า การเพิ่มอุโมงค์ระบายน้ำซึ่งเป็นการลงทุนระบบหลัก ไม่อาจแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เช่น อุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า ที่ขีดความสามารถในการระบาย 60 ลบ.ม./วินาที แต่คลองลาดพร้าวส่งน้ำไปให้ได้เพียง 10 ลบ.ม./วินาที กรณีนี้จึงต้องแก้ที่คลองลาดพร้าวเพื่อให้ส่งน้ำได้อย่างน้อย 30-40 ลบ.ม./วินาที ในส่วนที่เหลือแบ่งให้คลองแสนแสบบ้าง

จะเห็นได้ว่าจุดนี้เป็นส่วนสำคัญ เพราะปัญหาและอุปสรรคนั้นเกิดคอขวดที่ระบบป้อน ไม่ใช่ระบบหลัก ที่ผ่านมามีการลงทุนที่ระบบหลักอย่างมากมาย ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

เพราะส่วนสำคัญคือต้องแก้ที่การบริหารจัดการน้ำระบบย่อย มีอุโมงค์ยักษ์ แต่ระบบป้อนน้ำไปยังอุโมงค์นั้นยังป้อนไม่ทัน เพราะมีปัญหาการระบายน้ำเข้าอุโมงค์ เพราะคอขวดยังอยู่ที่คลองต่างๆ และยังอยู่ในซอย ทำให้มีน้ำท่วมในซอย ซึ่งบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่จะชี้จุดที่เป็นคอขวดได้ดีที่สุดเป็นส่วนของสำนักงานเขตฯ ไม่ใช่สำนักระบายน้ำ จึงต้องคิดต่อว่าจะกระจายงานส่วนนี้ไปที่สำนักงานเขตได้อย่างไร เพื่อการแก้ไขที่ดีขึ้น

ซึ่งการวางโครงสร้างต้องมีความสมดุลกัน เหมือนการมีไฮเวย์ขนาดใหญ่ แต่ไม่สามารถป้อนรถเข้าไปได้ รถยังติดอยู่ตามซอยต่างๆ เป็นคอขวด ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ เช่น ฟิวเจอร์พาร์ค มีคนมาแออัดรอรถอยู่เป็นจำนวนมหาศาล บางครั้งเป็นพันคน ลักษณะนี้เรียกว่าระบบป้อน (Feeder) ดี แต่ระบบขนส่งมวลชนยังไม่ถึง

ขณะที่กรณีของรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีบางใหญ่นั้น ระบบขนส่งมวลชนดี แต่ระบบ Feeder ยังไม่ดี ไม่มีคนมา ต้องแก้ที่ระบบป้อนคนเข้า ต้องเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อให้สำเร็จ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก

สถานการณ์ปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าระบบท่อใหญ่ยังคงว่างอยู่ แต่น้ำในคลองของทุกทิศทั้งบริเวณ นนทบุรี ปทุมธานี และลาดกระบัง มีระดับสูงเกินกว่าร้อยละ 90 สาเหตุที่ระดับน้ำเป็นไปในลักษณะนี้ เกิดจากการทรุดตัวของบริเวณ พื้นที่ทรุดตัวจนอยู่ใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเล น้ำจึงไม่ไหลลงชายทะเล

ในขณะที่ตรงกลางทรุดตัว แต่บริเวณชายหาดเช่น สมุทรปราการนั้นไม่มีการทรุด และสูงกว่าบริเวณตรงกลาง 60 - 70 ซม. จึงเป็นที่มาที่ต้องอาศัยเรือผลักดันน้ำ และอาศัยการสูบออก ไม่เช่นนั้นน้ำจะไม่สามารถไหลลงทะเลได้เลย จนกว่าจะท่วมเสียก่อนจึงจะไหลลง
ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)
ชงตั้งคณะดูแลปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง

ต้องยอมรับกันว่า ที่เป็นปัญหาในการบริหารจัดการเรื่องน้ำในวันนี้ คือ การทำงานในส่วนที่เป็นพื้นที่รอยต่อตัวอย่าง รอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย เป็นที่ทราบดีว่าเป็นพื้นที่รอยต่อที่เป็นปัญหาค่อนข้างมาก

ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีการแบ่งบริหารจัดการเป็นรัฐ ซึ่งการแก้ปัญหารอยต่อของสหรัฐฯ คือ ต้องอาศัยกำลังทหาร (US Army Corp) เป็นผู้บริหารเพื่อแก้ปัญหารอยต่อภาพรวม
สำหรับในประเทศไทยในวันนี้ยังขาดหน่วยงานที่มาแก้ปัญหารอยต่อ ดังนั้นควรต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องนี้

“ในยุครัฐบาล คสช.นี้ จึงอยากเห็นการสร้างองค์กรหรือระบบเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาคอขวดเรื่องการบริหารจัดการน้ำข้ามจังหวัด ข้ามพื้นที่ให้สำเร็จ ซึ่งแนวทางที่จะสร้างองค์กรขึ้นมาได้ ต้องมีการออกกฎหมายเพื่อให้เกิดองค์กร เช่น การตั้ง “สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ” ที่มีการแบ่งงานเป็น 3 รูปแบบให้ชัดเจน

รูปแบบที่ 1 คือ ดูแลในแต่ละพื้นที่ คือ “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” เพื่อรับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำดูในพื้นที่เล็กๆ เช่น การซ่อมบำรุง ดูเรื่องการแก้ไข และการสร้างโครงสร้างขนาดเล็ก ซึ่งส่วนนี้คนในพื้นที่จะเห็นภาพที่ชัดเจนกว่า

รูปแบบที่ 2 คือ มีบทบาทในภาพรวมพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของปริมาณฝนในประเทศไทย วิเคราะห์ไปถึงการปรับปรุงโครงสร้าง เรียกว่า “คณะกรรมการทางด้านเทคนิค” ที่ดูภาพรวมและดูแลแผนใหญ่ของประเทศ

รูปแบบที่ 3 คือ ดูแลเรื่อง “การบริหารน้ำและจัดสรรน้ำในระดับประเทศ” ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Water Budgeting คือมองภาพและประเมินการใช้น้ำ จากปริมาณน้ำทั้งหมดของแต่ละปี

แนวทางการจัดตั้งองค์กรลักษณะนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการสร้างหน่วยงานใหม่ขึ้นมาทั้งหมด สามารถทำได้ในรูปแบบของการรวมหน่วยงานที่มีอยู่ให้มาทำงานร่วมกัน โดยอาศัยคณะกรรมการฯ ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกฎหมายทรัพยากรน้ำกำลังจะเข้าสภาฯ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล

ซึ่งหากสามารถปรับส่วนนี้ให้ชัดเจน ประเทศก็จะสามารถเดินหน้า การบริหารจัดการน้ำก็จะง่ายขึ้น และสามารถแก้ได้ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง เพราะมีเจ้าภาพในการบริหารตั้งแต่ส่วนของพื้นที่เล็ก ที่คณะกรรมการลุ่มน้ำ ดูแลเรื่องลุ่มน้ำย่อย เช่นส่วนของคลอง หรือฝาย และมีคนดูแลเรื่องภาพใหญ่ตั้งแต่อุโมงค์ คลองขนาดใหญ่ และเขื่อน รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม
น้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ เขตเทศบาลตำบลลาดยาว นครสวรรค์ (6 ต.ค.2559)
ตัวอย่างระดับจังหวัดนำร่องปรับแล้ว

ดร.รอยล กล่าวว่า ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2540 ที่เข้ามาทำงานเรื่องบริหารจัดการน้ำ มองว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของระบบข้อมูล ที่เห็นชัดเจน คือ เริ่มมีตัวอย่างคนในพื้นที่สามารถบริหารจัดการน้ำในระดับจังหวัดได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องมาขยาย โดยต่อยอดไปข้างหน้าให้เกิดเป็นการบริหารน้ำระดับประเทศให้ได้

“เมื่อระดับไมโครเริ่มดีขึ้น เราจะเห็นตัวอย่างที่ดี จากการที่ได้เห็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมาตลอด ก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง และปรับตัวในทางที่ดีขึ้น เช่น บริเวณริมคลองชัยนาท-ป่าสัก คลองชลประทานที่ขุดขึ้นเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังแม่น้ำป่าสัก บริเวณเหนือเขื่อนพระราม 6 หรือริมคลอง13 จ.ปทุมธานี ซึ่งปัจจุบันนี้เหลือพื้นที่การทำนาอยู่เพียงร้อยละ 10-20 คนในพื้นที่เปลี่ยนมาทำสวน และทำร่องสวนในแบบเดียวกับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม คือทำร่องดิน ยกคันสูงขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ไปจนถึงการเลือกพืชที่ทนน้ำท่วม ส่วนนี้เป็นตัวอย่างการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหาที่ดีในระดับท้องถิ่น”

ปริมาณน้ำในเขื่อนยังปกติ

ส่วนความวิตกกังวลเรื่องอุทกภัยในปีนี้ ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำมีไม่มาก ส่วนปรากฏการณ์ “ลา นิญ่า” ที่คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบ มีฝนตกถึงตกหนักในครึ่งหลังของปี 2559 ต่อต้นปี 2560 ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาสำหรับปีนี้ก็อ่อนกำลังไปมาก

ขณะที่มหาสมุทรอินเดียก็ไม่มีพายุลูกใหญ่ ที่จะสร้างผลกระทบทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น จากการตรวจสอบปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลมีน้ำกักเก็บร้อยละ 45% และเขื่อนศรีนครินทร์ร้อยละ 71 ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ไม่มาก ส่วนที่มีการจับตาเพราะมีปริมาณน้ำมาก คือ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย ส่วนปริมาณน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนสิรินธรก็มีสถานการณ์น้ำที่ดีและมีปริมาณน้ำเป็นปกติเช่นกัน

เมื่อถึงวันนี้ก็มองว่าสถานการณ์ฝน ที่คาดว่าจะตกลงมาอีก ก็ไม่น่ากังวลแล้ว และในส่วนของพายุนั้น ถึงแม้จะมีเข้ามาหลายลูกในปีนี้ แต่ที่ส่งผลกระทบกับไทยโดยตรงคือพายุราอี ซึ่งจะเห็นว่าเข้ามาที่ไทยแต่สลายตัวแล้วบริเวณภาคอีสาน และประเทศลาว 

กระทั่งพายุลูกล่าสุด คือ พายุเมกิ ซึ่งเข้าที่ประเทศไต้หวัน พายุส่วนใหญ่นั้นมีทิศทางไปที่ประเทศไต้หวัน และฮ่องกง ส่งผลกระทบกับไทยคือ เกิดร่องมรสุมขึ้น ทำให้เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำในบริเวณอันดามัน และเบงกอล ซึ่งส่งผลให้เกิดร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง แม้จะไม่มีกำลังแรงมาก แต่ก็ทำให้เกิดฝนตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.ซึ่งมีฝนตกหนักในภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน บริเวณจังหวัดอุทัยธานี สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง นครสวรรค์ และลพบุรี
ภาพถ่ายดาวเทียม/แผนที่วิเคราะห์เส้นทาง และความแรงพายุ ที่มา : THAI WATER
จับตาพายุที่ต้องติดตามกันต่อไปภายในเดือนตุลาคมนี้

สำหรับพายุลูกอื่นๆที่คาดการณ์ว่าจะเข้าประเทศเพื่อนบ้าน และส่งผลกระทบกับประเทศไทยนั้นอยู่ระหว่างการติดตามลูกใหม่ที่จะเกิดที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งยังไม่แน่นอน แต่จะเกิดพร้อมๆกับเบงกอล

ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่จะเกิดร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ไม่เกินวันที่ 6 -7 นอกจากนั้นที่ต้องติดตามกันต่อไป คือ ทางใต้ของประเทศจีน ซึ่งตามธรรมชาติจะเคลื่อนลงมาในสัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือนตุลาคม รวมทั้งบริเวณภาคใต้ที่ต้องระวังในช่วงเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ซึ่งต้องติดตามดูกันต่อไป

การบริหารจัดการน้ำจุดสำคัญ

ดร.รอยล กล่าวถึงส่วนสถานการณ์การระบายน้ำฝั่งตะวันตกในปัจจุบันว่า หากจะผันน้ำไปเพิ่มเติมอีกนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะแม่น้ำน้อยมีปริมาณน้ำใกล้เต็มตลิ่ง และในส่วนแม่น้ำท่าจีนของจังหวัดสุพรรณบุรีเองก็ต้องรับน้ำมาจากเขื่อนกระเสียวและฝนในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ใช้วิธีการระบายมาทางฝั่งตะวันออก

สำหรับฝั่งตะวันออก ปัจจุบันทางกรมชลประทาน มีการปรับเพิ่มจากที่ระบายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ไปที่เขื่อนพระราม 6 อย่างเดียว ก็เริ่มมีการระบายไปที่คลองระพีพัฒน์ ไปที่ประตูพระนารายณ์ ซึ่งหัวใจของฝั่งตะวันออก คือคลองระพีพัฒน์

ขณะที่หัวใจของการระบายน้ำฝั่งตะวันตกอยู่ที่ แม่น้ำน้อยกับแม่น้ำท่าจีน ตามในผังน้ำอยู่ที่บริเวณจังหวัดสิงห์บุรี หากเมื่อไหร่ที่น้ำเต็ม ก็เรียกว่าวิกฤต และไล่ลงมาตรงแม่น้ำท่าจีน อีกด้านก็คือแม่น้ำน้อย ซึ่งมีขีดความสามารถในการระบายประมาณ 3,600 ลบ.ม./วินาที และขณะนี้เหลือเพียง 1,300 - 1,500 ลบ.ม./วินาที แล้วจึงมาเพิ่มที่บางไทรขึ้นไปถึงเกือบ 4,000 ลบ.ม./วินาที จึงต้องมีการแยกน้ำ แล้วนำกลับมาที่ด้านล่าง
น้ำท่วม ถ.มิตรภาพ นครราชสีมา (6 ต.ค. 2559)
ปริมาณน้ำเมื่อเทียบกับปี 54

สถานการณ์น้ำที่แถบจังหวัดอยุธยาและอ่างทองในปีนี้ เรียกว่าปกติ ถ้านำไปเปรียบเทียบสถานการณ์กับของปี 2554 ที่ในช่วงเวลานั้น มีปริมาณน้ำที่ไหลมาทางจังหวัดนครสวรรค์4,500 - 4,600 ลบ.ม./วินาที

แต่ในวันนี้มีเพียง 1,770 ลบ.ม. จะเห็นได้ว่าปริมาณต่างกันมาก รวมทั้งสถานการณ์น้ำค้างทุ่งก็แทบไม่มี ในขณะที่ปี 2554 มีน้ำค้างทุ่งจากนครสวรรค์ถึงกรุงเทพมหานคร หมื่นล้าน ลบ.ม. เหนือนครสวรรค์มีน้ำค้างทุ่งอีกถึง 8,000 ล้าน ลบ.ม. จะเห็นว่าสถานการณ์เป็นคนละแบบ

ปี 2559 โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมจากน้ำเหนือไหลหลากมีไม่ถึงร้อยละ 1 เพราะปริมาณน้ำจากภาคเหนือน้อยมากจนแทบไม่มี ดังนั้นที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ เป็นเรื่องของ “น้ำท่วมขังและรอการระบายจริงๆ” ซึ่งมีสาเหตุที่เกิดจาก



“ฝนตกในพื้นที่ ไม่มีเรื่องของน้ำเหนือหลาก” เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดลพบุรีก็เกิดจากฝนตกในจังหวัด ในตัวเมืองเท่านั้น ซึ่งเป็นปัญหาลักษณะเดียวกันกับในกรุงเทพมหานคร เมื่อเมืองเริ่มใหญ่ขึ้นการระบายน้ำก็ไม่ดี จึงต้องแก้ที่ระดับไมโครทั้งประเทศ

กรณีที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาก็เช่นกัน เพราะจากสภาพที่เป็นแอ่งกระทะ แม้จะมีระบบที่ดีตั้งแต่คลอง ร.1 - ร.6 ที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ และสภาพดี แต่ปัญหาเกิดจากกลางใจเมืองบริเวณคลองแหและคลองเกด ที่ขาดการดูแล และปัจจัยเพิ่มเติมคือปัญหาน้ำเข้าระบบที่หาดใหญ่ เพราะทุกครั้งที่มีฝนตกในหาดใหญ่ จะมีฝนตกที่ทะเลน้อย และทะเลหลวง จังหวัดพัทลุงด้วย โดยน้ำจากทะเลทั้งสองต้องเข้าอ่าวไทย ผ่านทะเลสาบสงขลา แทนที่จะออกทางระโนด จึงเป็นการเข้ามาพร้อมกัน ทำให้ปริมาณน้ำมีจำนวนมาก และระดับน้ำจากทั้งสองทะเลที่บ่าลงมา สูงกว่าระดับน้ำหาดใหญ่ถึง 1 เมตรเศษ ทำให้หาดใหญ่ไม่สามารถระบายลงได้
ระดับน้ำสูงสุด 20 อันดับ/สถานการณ์น้ำในเขื่อน (8 ต.ค. 2559) ที่มา : THAI WATER
ปรับแผนป้องกันน้ำท่วมให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

ดร.รอยล กล่าวถึงนโยบายป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล ที่มีการวางโครงสร้างไว้ดีแล้วนั้น ควรเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลง เพื่อรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าให้ได้ โดยเฉพาะการแก้วิกฤตที่เกิดขึ้นจะต้องให้สำเร็จ เพราะที่ผ่านมามีบทเรียนให้เห็นแล้วว่า หากยังคงใช้วิธีการเดิม เร่งเรื่องของการวางแผนเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก โดยนำแผนมาต่อกัน โดยไม่ได้มองและวิเคราะห์แผนเดิมว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่นั้น สุดท้ายปรากฏว่ามีปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมาก

ซึ่งพบว่าส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากความกลัว จะต้องมีการประเมินปัญหาของแผนเดิมที่ดำเนินการมา ซึ่งในความเป็นจริงนั้น การทำงานแล้วมีปัญหานั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีอะไรสมบูรณ์เต็มร้อยอย่างแน่นอน และที่สำคัญ คือ ต้องมีการบริหารจัดการเป็นรายพื้นที่

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของฝน ที่มีผลต่อเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จากเดิมแหล่งกักเก็บน้ำของประเทศอยู่บนภูเขา แต่ปัจจุบันฝนมาตกลงในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ หรือกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้การกักเก็บน้ำไม่สามารถทำได้ ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนตามด้วย

สิ่งที่จะต้องปรับ ในลำดับแรก คือ การเปลี่ยนวิธีคิดของคน ตัวอย่างการเปลี่ยนประเทศจากประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ หรือเดนมาร์ก จะเน้นเรื่องการบริหารจัดการของเดิมให้ดีที่สุด และเมื่อเวลาผ่านไป 30 - 40 ปี เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมมีความเปลี่ยนแปลง หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จึงค่อยมาปรับโครงสร้าง ไม่ใช่ต้องปรับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา
ภาพรวมสภาพอากาศ ที่มา : THAI WATER
แอปฯช่วยวางแผนการเดินทางในหน้าฝน

ดร.รอยล ยังกล่าวแนะนำให้คนไทยติดตามสถานการณ์ฝน ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นจากแอปพลิเคชัน Thai water ซึ่งมีความชัดเจนและเห็นครบถ้วน สามารถดาวน์โหลดไปทดลองใช้ได้ เพราะมีส่วนช่วยเหลือประชาชนให้สามารถทราบข้อมูลในด้านสภาพอากาศ ทั้งเรื่องฝน ที่มีข้อมูลจากสถานีวัดฝนกว่า 800 สถานีทั่วประเทศไทย ซึ่งมีการรายงานเป็นรายชั่วโมง ทำให้มีความแม่นยำและทันต่อเหตุการณ์

รวมถึงยังมีผังน้ำทำให้ทราบระดับน้ำที่แม่น้ำ ในลำน้ำ และเขื่อนต่างๆ ว่ามีปริมาณน้ำในระดับใกล้ล้นหรือไม่ อีกทั้งการติดตามในส่วนของอ่าวไทย ว่ามี “ลมหรือคลื่น” ในระดับไหน นอกจากนั้นยังสามารถตรวจสภาพอากาศ โดยมีการคาดการณ์ฝนและลมล่วงหน้า 7 วัน

สำหรับประชาชนทั่วไปที่ใช้สมาร์ทโฟน สามารถนำข้อมูลในแอปฯมาช่วยในการเห็นภาพล่วงหน้า เช่นเห็นกลุ่มฝนเข้ามาในบริเวณกรุงเทพมหานคร เมื่อทราบล่วงหน้า จะสามารถเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ได้ รวมทั้งข้อมูลที่ทำให้รู้เรื่องฤดูกาล เรื่องพายุยังจะช่วยสนับสนุนประชาชนในภาคเกษตรกรด้วยเช่นกัน

เช่นการดูพายุจะแสดงให้เห็นหย่อมความกดอากาศ ที่วันนี้ประเทศไทยเริ่มมีสภาพอากาศเย็นลงบ้าง จะเห็นในภาพที่แสดงว่าหย่อมความกดอากาศสูงเริ่มเข้ามาไทย ซึ่งตอนนี้ทางเหนือของไทยก็เริ่มเย็น นอกจากนี้ต้องดูเรื่องลม เช่นวันนี้บริเวณภาคใต้แสดงให้เห็นถึงกระแสลมที่ค่อนข้างแรง หย่อมความกดอากาศสูงหมายถึงอากาศเย็น ขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำหมายถึงอากาศเริ่มอุ่น

อย่างไรก็ตามเนื่องจากข้อมูลยังเป็นการแสดงภาพใหญ่ ดังนั้นจะมีการนำข้อมูลมาใช้ต่อยอดในอนาคต โดยปรับปรุงให้มีข้อมูลในระดับท้องถิ่น จะมีการร่วมทำงานกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อนำข้อมูลมาเพิ่มรายละเอียด โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในระดับท้องถิ่น โดยติดตั้งระบบตรวจวัดอัตโนมัติเสริมในจุดที่ไม่มี เป็นลักษณะ Staff gauge คือไม้วัดระดับน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาเคยทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชน โดยติดตั้งไม้วัด ทำเป็นบัญชีน้ำรายงานสรุปทุกสัปดาห์ ซี่งตรงนั้นก็จะสามารถสร้างแอปฯข้อมูลลงลึกรายละเอียดของชุมชนท้องถิ่นเองได้



กำลังโหลดความคิดเห็น