xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ เผยมาตรการรับมือน้ำ หลังหลายพื้นที่มีฝนตกหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร อุทัยธานี และนครสวรรค์ ในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมา ทำให้มีน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์มากขึ้น เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจำนวนมากจากแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลลงมาสมทบ จะทำให้ปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำเข้าไปตามศักยภาพที่รับได้ พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน 1,998 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 50-70 เซนติเมตร
ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นั้น เนื่องจากบริเวณเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนฯ อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างมาก ณ วันนี้( 7 ต.ค.) มีปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งหมด 881 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 92 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกเพียง 79 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น วันนี้ (7 ต.ค.) มีน้ำไหลเข้าเขื่อนฯประมาณ 63 ล้านลูกบาศก์เมตร หากไม่มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำออกให้สมดุลกับปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนฯ จะทำให้น้ำเต็มเขื่อน และเกินความจุของเขื่อนได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะส่งผลให้การระบายน้ำจากออกจากเขื่อนต้องเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาจจะส่งผลกระทบกับพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเป็นบริเวณกว้างได้ กรมชลประทานจึงต้องปรับการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากเดิมที่ระบายออกวันละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นอัตราในช่วงวันละ 47.50 – 50 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อควบคุมไม่ให้น้ำเต็มเขื่อนก่อนจะสิ้นสุดฤดูฝน
ในด้านของเขื่อนพระรามหก ยังคงควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านไม่เกิน 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีตามเดิมปัจจุบัน มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน 595 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนแต่อย่างใด สำหรับปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นั้น กรมชลประทานจะใช้พื้นที่ว่างบริเวณเหนือเขื่อนพระรามหก ชะลอน้ำส่วนหนึ่งไว้ น้ำอีกส่วนหนึ่งที่เหลือจะใช้ระบบชลประทานฝั่งตะวันออกตอนล่าง รับน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์ จากนั้นจะเร่งระบายน้ำส่วนนี้ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง และคลองชายทะเลต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น