xs
xsm
sm
md
lg

สั่งทุกหน่วยประหยัด-รับบริจาคน้ำดื่ม ช่วยเหยื่อภัยแล้ง วอนกอล์ฟ-อุตฯ ใช้น้ำสำรอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาลเผย นายกฯ สั่งการเตือนทุกภาคส่วนต้องใช้น้ำประหยัดที่สุด งดกิจกรรมสิ้นเปลือง บริการสนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำให้ใช้น้ำในส่วนสำรองของตนเอง ห้ามใช้ประปาสิ้นเปลือง ราชการต้องเป็นตัวอย่างใช้น้ำอย่างมีสติชี้ใครฝ่าฝืนอาจเจอมาตรการขั้นเด็ดขาด พร้อมเตรียมเปิดรับบริจาคน้ำดื่มส่งช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย ระดมน้ำใจไทยช่วยคนไทยสู้ภัยแล้ง รมว.เกษตรฯเรียกระดมทุกหน่วยงานช่วยเหลือเกษตรกรแก้วิกฤตภัยแล้ง เน้นพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ชาวนาสุโขทัย-พิษณุโลกเฮ!ได้น้ำทำนาแล้ว ขณะที่ชาวนาโคราชทิ้งนาแห้งตายแลกน้ำกิน-ใช้

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ได้สั่งการด่วนพิเศษให้แจ้งต่อทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด ในช่วงวิกฤตนี้ กิจกรรมใดที่ใช้น้ำมาก และสามารถชะลอออกไปได้ ควรละไว้ก่อน เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้

"แม้บางคนอาจจะคิดว่ามีสตางค์จ่ายค่าน้ำประปา แล้วคิดจะใช้ตามปกติ ขอให้คิดใหม่ว่า ขณะนี้เป็นสถานการณ์วิกฤต จะเห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตนไม่ได้ ภาคเอกชนที่รู้ว่าประกอบธุรกิจที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก เช่น สนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ หรือที่พักโรงแรม ขอให้ใช้น้ำในส่วนกักเก็บหรือสำรองของตนเองก่อนเป็นลำดับแรก และที่สำคัญที่สุดคือ ส่วนราชการต้องดำเนินการให้ทุกส่วนเห็นเป็นตัวอย่าง ใช้น้ำอย่างมีสติ วางแผนอย่างรอบคอบ หากฝ่าฝืนอาจจะมีมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อไป ในส่วนของพี่น้องประชาชน กิจกรรมบางส่วนถ้าชะลอได้ก็ขอให้ชะลอไปก่อน เช่นล้างรถ อาจใช้การปัดเช็ดถี่ๆ แทน ขอให้ตระหนักว่า เราอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ สำหรับ พี่น้องเกษตรกร รัฐบาลยังคงขอความร่วมมือ งดสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรโดยเด็ดขาด ในช่วง วันเสาร์ ถึง วันจันทร์นี้ เพราะต้องสงวนน้ำไว้ผลักดันน้ำทะเลที่หนุนสูง มิฉะนั้นอาจกระทบต่อระบบการจัดทำน้ำประปาทั้งหมด จึงขอความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกคนโดยพร้อมเพรียง" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

รมว.กษ.เรียก 22 จว.ร่วมแก้ภัยแล้ง

วานนี้ (19 ก.ค.) ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือ และมอบนโยบายให้แก่หน่วยงานในสังกัดเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์การบูรณาการช่วยเหลือเกษตรกรวิกฤตภัยแล้ง โดยเน้นพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งด้านการเพาะปลูก การบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งหาแนวทางพัฒนารายได้ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

นายปีติพงศ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนจำนวนมากกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง โดยเฉพาะในเขต 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงจำเป็นต้องดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด มีนโยบายที่จะต้องให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมรับสถานการณ์เรื่องน้ำไว้ เพื่อบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยกำชับให้มีการออกตรวจเยี่ยมเกษตรกรในพื้นที่จริงอย่างทั่วถึง เพื่อที่จะได้ทราบปัญหาและให้การช่วยเหลืออย่างตรงเป้า พร้อมสร้างทำความเข้าใจต่อเกษตรกรในเรื่องความจำเป็นของการใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง

นายปีติพงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ออกแบบศูนย์ช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการปรับปรุงพัฒนาผลผลิต และการช่วยเหลือ โดยนำเทคโนโลยีในรูปแบบของโซเชียลมีเดียในปัจจุบันเข้ามาช่วย ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ และแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าไปแจ้งขอความช่วยเหลือด้วยตนเองได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนิน การของกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้ทดแทนระหว่างชะลอการปลูกข้าวนาปี การส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การทำไร่นาสวนผสม รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่จะตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรลงอยุธยา

วันเดียวกันนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่บริเวณศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หมู่ 1 ต.ตลาดเกรียบ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเข้าเยี่ยมให้กำลังใจรวมถึงรับฟังปัญหาต่างๆ จากเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

นายโอฬาร กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังเร่งหามาตรการต่างๆ มาดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกร หนึ่งในนั้นก็คือการก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นศูนย์หลักในการช่วยเหลือเกษตรกรในระดับตำบล เป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรในตำบลได้นำเสนอข้อปัญหาต่างๆ ทางการเกษตร ทั้งปัญหาการขาดน้ำ ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย รวมถึงปัญหาอื่นๆ ให้ได้โดยเร็วที่สุด

โดยสามารถแจ้งเรื่องราวปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง หรือผ่านเจ้าหน้าที่เกษตรในพื้นที่ รวมทั้งยังสามารถแจ้งทางระบบไอที ผ่านโซเชียล มีเดียต่างๆ ทั้งทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ และแอพลิเคชั่นมือถือต่างๆ เมื่อได้รับแจ้งแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือทันที โดยจะเริ่มตอบสนองการดำเนินการภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะจัดทีมเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาให้ความรู้และแนะนำแนวทางแก้ไขอย่างถูกต้อง

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาส่วนใหญ่ของพี่น้องเกษตรกรยังคงเกี่ยวกับปัญหาการขาดน้ำจากการประสบสภาวะฝนแล้งในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นสภาวะผิดปกติในช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น คาดว่าประมาณปลายเดือนนี้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนเต็มที่ สถานการณ์น้ำก็น่าจะเข้าสู่สภาวะปกติได้ ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหลืออีกประมาณ 2-3 สัปดาห์นี้ หน่วยงานต่างๆจะต้องเร่งช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่

นายกฯสั่งทุกภาคส่วนให้ประหยัดใข้น้ำ

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการด่วนพิเศษให้แจ้งต่อทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุดในช่วงวิกฤตนี้ โดยกิจกรรมใดที่ใช้น้ำมากและสามารถชะลอออกไปได้ ควรละไว้ก่อนเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปก่อน

"แม้บางคนอาจจะคิดว่ามีสตางค์จ่ายค่าน้ำประปาแล้วคิดจะใช้ตามปกติ ขอให้คิดใหม่ว่า ขณะนี้เป็นสถานการณ์วิกฤต จะเห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตนไม่ได้ ภาคเอกชนที่รู้ว่าประกอบธุรกิจที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก เช่น สนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ หรือที่พักโรงแรม ขอให้ใช้น้ำในส่วนกักเก็บหรือสำรองของตนเองก่อนเป็นลำดับแรก และที่สำคัญที่สุดคือส่วนราชการต้องดำเนินการให้ทุกส่วนเห็นเป็นตัวอย่าง ใช้น้ำอย่างมีสติ วางแผนอย่างรอบคอบ หากฝ่าฝืนอาจจะมีมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อไป ในส่วนของประชาชนกิจกรรมบางส่วนถ้าชะลอได้ก็ขอให้ชะลอไปก่อน เช่นล้างรถ อาจใช้การปัดเช็ดถี่ๆ แทน ขอให้ตระหนักว่า เราอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ สำหรับเกษตรกร รัฐบาลยังคงขอความร่วมมือ งดสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรโดยเด็ดขาด ในช่วงวันเสาร์ถึงวันจันทร์นี้ เพราะต้องสงวนน้ำไว้ผลักดันน้ำทะเลที่หนุนสูง มิฉะนั้นอาจกระทบต่อระบบการจัดทำน้ำประปาทั้งหมด จึงขอความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกคนโดยพร้อมเพรียง" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

รบ.เตรียมรับบริจาคน้ำช่วยเหยื่อภัยแล้ง

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า สถานการณ์น้ำฝน น้ำในเขื่อนและน้ำใช้อยู่ในสถานการณ์ภาวะที่ไว้วางใจไม่ได้ รัฐบาลจึงเตรียมมาตรการจัดการปัญหาโดยให้ความสำคัญกับน้ำบริโภคเป็นลำดับแรก เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะบรรจุวาระเร่งด่วนเรื่องการดูแลน้ำกินน้ำใช้ให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยเปิดรับบริจาคน้ำดื่มจากประชาชนส่วนกลางส่งไปช่วยสมทบในจุดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ตั้งจุดบริการน้ำทั่วประเทศในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ในจุดที่ยังต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เรื่องดังกล่าวมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักในการระดมน้ำใจไทยช่วยคนไทยสู้ภัยแล้งในครั้งนี้ หากสถานการณ์น้ำยังไม่ดีขึ้น ทางรัฐบาลจะได้กำหนดแนวทางการเยียวยาช่วยเหลือต่อไป

อย่างไรก็ตาม อยากขอให้ทุกภาคส่วนเข้าใจถึงความจำเป็นของประเทศขณะนี้ และในการประชุม ครม.วันที่ 21 ก.ค.นี้ นอกจากวาระการจัดหาน้ำดื่มที่เป็นการปันน้ำใจไทยให้แก่กันแล้ว จะมีการนำแผนบริหารจัดการน้ำที่ได้ดำเนินการไปแล้วหรือกำลังจะดำเนินการอาจนำไปสู่การพิจารณาเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนแผน โดยคำนึงถึงปัจจัยเฉพาะหน้าที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์เข้าไปอีกด้วย

เขื่อนแควน้อยสั่งห้ามสูบน้ำเด็ดขาด

นายสมหวัง ปารสุขสาร ผอ.เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ทางเขื่อนเตรียมลดการระบายน้ำลงจาก 1.7 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 1 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งเดิมตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.มีการปล่อยน้ำวันละ 10 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที ต่อมาลดลงเหลือ 8 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที จนตอนนี้เหลือ 5 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที โดยการบริหารจัดการน้ำนั้นจะมีการแบ่งซ้าย-ขวาของคลอง มีการแบ่งรอบเวร แต่หลังวันที่ 1 ส.ค.ไปแล้ว จะลดการปล่อยนำเหลือ 3 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที จึงต้องมีการบริหารจัดการกันใหม่ เบื้องต้นบริเวณคลองสายใหญ่ ห้ามมีเครื่องสูบในพื้นที่เด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบสูบน้ำ

"ขณะนี้ต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรในพื้นที่ถึงความจำเป็นที่ต้องบริหารจัดการน้ำให้สมดุลย์และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย" นายสมหวัง กล่าว

ศรีสะเกษครวญแม่น้ำมูลวิกฤตหนัก

ด้านสถานการณ์น้ำในลำน้ำมูลที่ไหลผ่านพื้นที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ขณะนี้ยังมีสภาพตื้นเขินในรอบหลายปี ถึงแม้จะมีฝนตกต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำมูลได้ ทำให้ปีนี้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรทั้ง 5 แห่งที่ตั้งอยู่ใน ต.ท่าม่วง มีพื้นที่นาข้าวในเขตบริการมากกว่า 10,000 ไร่ไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวช่วยเหลือเกษตรกรได้ เนื่องจากปริมาณน้ำในลำน้ำมูลมีสภาพตื้นเขินในรอบหลายปี หากเกษตรยังฝ่าฝืนสูบน้ำขึ้นมาใส่นาข้าวจะทำให้น้ำที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยแห้งขอด และจะส่งผลกระทบกับผู้เลี้ยงปลากระชังทำให้ปลาขาดน้ำน็อคตายได้ หรือหากสถานีสูบน้ำสถานีใดสถานีหนึ่งสูบน้ำขึ้นมาใส่นาข้าวก็จะทำให้เกษตรกรที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าก็สูบน้ำมาขึ้นใช้เช่นกันจะทำให้น้ำที่มีอยู่ ไม่สามารถแจกจ่ายให้เกษตรกรที่ต้องการใช้น้ำได้ทั่วถึง อาจทำให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำจนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรได้

กรณีดังกล่าวทำให้เกษตรกรส่วนมากยอมให้ทุกสถานีสูบน้ำงดการสูบน้ำไปก่อน จนกว่าจะมีฝนตกลงมาเพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำมูลให้สูงขึ้นพ้นจากภาวะวิกฤต จึงจะสามารถสูบน้ำมาใส่นาข้าวพร้อมกันได้ถึงแม้ขณะนี้เกษตรกรส่วนมากจะต้องการน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่ขาดน้ำเพื่อที่จะได้หว่านปุ๋ยใส่นาข้าวให้เจริญงอกงามในช่วงนี้ก็ตาม ต่างทุกปีเกษตรกรจะเริ่มสูบน้ำใส่นาข้าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทำให้ปีนี้ล่าช้ามากว่า 2 เดือน

ชาวนาโคราชทิ้งนาแห้งตายแลกน้ำกิน-ใช้

ส่วนเกษตรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่บ้านโคกแขวน หมู่ 2 ต.พันดุง อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา ขณะนี้ชาวนาจำนวนหนึ่งกำลังขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ได้มีการหว่านนาแห้งทิ้งไว้ โดยไม่คาดว่าปีนี้จะประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลายาวนาน

นายพศิษฐ์ ขอนพุดซาสิริโชค ผู้ใหญ่บ้านบ้านโคกแขวน หมู่ 2 ระบุว่า แต่ละปีชาวบ้านในหมู่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยในหมู่บ้านตนมีที่นาประมาณ 900 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาหากภายใน 2 สัปดาห์ที่จะถึงนี้ยังไม่มีฝนตกลงมา คาดว่าต้นกล้าของชาวบ้านทั้งหมดจะแห้งตายแน่นอน

"ในช่วงนี้ผมได้ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกร ห้ามไม่ให้ทำการสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะในหมู่บ้าน เพื่อลงแปลงนา หรือทำการเกษตรทุกชนิด เนื่องจากปัจจุบัน น้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภค บริโภค ไม่เพียงพอ จนทางเทศบาลตำบลพันดุง ต้องนำรถบรรทุกน้ำมาแจกจ่ายเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว ดังนั้น หากเกษตรกรสูบน้ำไปทำการเกษตรอีก ชาวบ้านกว่า 450 ครัวเรือน จะได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักแน่นอน"

ชาวนาขอ รบ.ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลช่วย

นายสมชาติ ยิ้มละไม้ ชาวนา ต.สายทอง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ชาวนางดสูบน้ำเข้านาในวันที่ 18-20 ก.ค.เนื่องจากมีน้ำทะเลหนุนสูง และจะกระทบต่อระบบน้ำปะปา ชาวนาก็พร้อมปฏิบัติตาม แต่อยากขอวิงวอนให้รัฐบาลช่วยเร่งแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวนาด้วย เพราะหากนาข้าวขาดน้ำหล่อเลี้ยงก็จะทำให้ยืนต้นตายในไม่กี่วัน

นายสมชาติ กล่าวอีกว่า ต้องการให้ทางรัฐบาลประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อที่จะได้นำเงินงบประมาณส่วนกลางมาช่วยเหลือชาวนาผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ เพราะขณะนี้นอกจากมีอาชีพทำนาและเป็นเกษตรกรแล้ว ไม่มีอาชีพเสริมแต่อย่างใดจะเพาะปลูกอะไรก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องใช้น้ำที่เป็นปัจจัยหลักและขณะนี้ได้ประสบปัญหาของภาระหนี้สินที่ยังคงเดิม จำนวนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลช่วยในเรื่องของการขุดเจาะบาดาลน้ำลึกเพื่อที่ชาวนาจะได้นำน้ำที่มีคุณภาพไปใช้ในการการเพาะปลูกซึ่งจะสามารถช่วยเหลือชาวนาได้ในระดับหนึ่งด้วย

ชาวลพบุรียิ้ม ชป.เตรียมอนุญาตสูบน้ำ

นายอรรถพร ปัญญาโฉม ผู้อำนวยการจัดสรรน้ำสำนักงานชลประทานที่ 10 จังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาทผ่านช่วงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ ขณะนี้เครื่องสูบน้ำสามารถเดินเครื่องได้เต็มที่ทุกเครื่องแล้ว ทำให้มีน้ำไหลเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสักเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จากเดิมมีน้ำไหลเข้าอยู่ที่ 10-12 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ในวันนี้มีน้ำไหลเข้ามาในคลองชัยนาท-ป่าสักอยู่ที่ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือเป็นปริมาณน้ำวันละ 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้สถานการณ์ของน้ำที่จะใช้ผลิตประปานั้นมีเพียงพอแล้วมีทุกสถานีสูบน้ำที่ใช้คลองชัยนาท-ป่าสัก

นายอรรถพร ระบุว่า หลังจากนี้จะมีการพิจารณาเรื่องน้ำด้านการเกษตร โดยทางชลประทานจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สแกนพื้นที่นาข้าวว่าจุดไหนเดือดร้อนหนักก่อนจะอนุญาตให้สูบน้ำเข้านาได้ ส่วนนาข้าวแปลงไหนยังไม่วิกฤตก็จะยังไม่ให้สูบเข้านา เพื่อรักษาระดับน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค

นาสุโขทัย-พิษณุโลกเฮ!ได้น้ำทำนาแล้ว

นายโกเมศ มุกเพ็ชร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.ไกรใน อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งทำให้แม่น้ำยมสายเก่า ซึ่งไหลผ่านพื้นที่หมู่ 9 ต.ไกรใน มีสภาพแห้งขอดจนไม่เหลือน้ำทำนาได้ตามปกติ เกษตรกรต้องเผชิญวิกฤตหนักสุดในรอบ 30 ปี เดือดร้อนกันทั่วหน้าแล้วนั้น

ล่าสุดกรมชลประทานได้ผลักดันน้ำให้ไหลเข้าสู่แม่น้ำยมสายเก่า ทำให้ชาวนา 4 ตำบล 8 หมู่บ้านของอ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย และในพื้นที่ 2 ตำบล 5 หมู่บ้านของอ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำยมสายเก่า ผันเข้าสู่พื้นที่นาข้าวได้ทั้งหมดประมาณ 100,000 ไร่

นายโกเมศ บอกว่า หลังจากต้องทนทุกข์กับภัยแล้งมายาวนาน ตอนนี้เกษตรกรทั้ง 6 ตำบล 13 หมู่บ้านใน 2 อำเภอของ จ.สุโขทัย และจ.พิษณุโลก ต่างดีอกดีใจกันถ้วนหน้า เพราะทำให้มีความหวัง ที่จะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตขาย นำเงินมาหมุนเวียนใช้จ่ายในครอบครัวได้ต่อไป

ขอนแก่นยกเลิกพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว

ทางด้านนายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ภัยแล้งแล้วทั้ง 26 อำเภอ โดย อ.บ้านฝาง เป็นอำเภอสุดท้าย ในการยกเลิกดังกล่าวมีผลมาจากฝนที่ตกหนักตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา บางอำเภอมีฝนตกลงมามากถึงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งในระยะนี้ได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว ทำให้ชาวนาทั้งนอกเขตชลประทาน และในเขตชลประทานกว่า 5 แสนไร่มีน้ำเพียงพอ

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ขณะนี้มีปริมาณเหลือจำนวน 671 ล้าน ลบ.ม.หรือ 27% ของความจุอ่าง และปัจจุบันได้มีน้ำฝนไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์บ้างแล้ว แต่ยังถือว่าอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก

สำรวจถนนเลียบคลอง13ทรุดเป็นเมตร

นายภาคภูมิ ผ่านสำแดง ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทปทุมธานี ได้สั่งการให้ผู้รับเหมานำรถเกรตและรถบดอัดขึ้นจากพื้นถนนทรุด และให้เจ้าหน้าที่ปิดกั้นถนนเพื่อซ่อมแซมเบื้องต้น หลังถนนทางหลวงชนบท ปท. 3035 จากธัญบุรี มุ่งหน้าลำลูกกา (ฝั่งตะวันออก) เลียบคลอง13 หลักกมที่ 0+300 หมู่ที่ 5 ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี ได้ทรุดตัวเป็นทางยาวกว่า 130 เมตร และยังมีรอยร้าวต่อเนื่อง ซึ่ง นายภาคภูมิ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้นำชุดสำรวจดินโดยการเจาะชั้นดินเพื่อตรวจสอบโครงสร้างของชั้นดิน โดยเจาะลึกลงไป 10 เมตร เพื่อตรวจความอ่อนตัวของชั้นดิน พร้อมดูการทำงานของผู้รับเหมาด้วย

กทม.ปัดใช้น้ำประปาล้างถนน-รถต้นไม้

นายสุวพร เจิมรังษี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการโพสต์ และแชร์ข่าวการล้างทำความสะอาดถนนของ กทม.ว่า เป็นการสิ้นเปลืองน้ำและสวนทางกับการรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดน้ำในช่วงหน้าแล้งนั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ในความเป็นจริงนั้น กทม.ได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครมาใช้ในการล้างถนน และการรดน้ำต้นไม้เป็นหลัก ไม่ได้ใช้น้ำประปาแต่อย่างใด

ทั้งนี้อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าการล้างถนน ล้างสะพานลอย และทางเท้า เป็นภารกิจประจำที่ กทม.โดยสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตพื้นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะอยู่แล้วเพื่อความสะอาดของบ้านเมือง แต่ในกรณีที่มีกิจกรรมพิเศษก็จะทำความสะอาดเพิ่มเติม โดยการล้างถนนและสะพานเป็นการฉีดน้ำด้วยแรงดันสูงที่มีแรงดันลมช่วยให้คราบสกปรกหลุดออกง่ายโดยใช้น้ำน้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น