xs
xsm
sm
md
lg

นิคมฯอมตะน้ำทะลัก จี้สอบ4แบงก์ปล่อยกู้น้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน  -  น้ำท่วมทะลักเข้านิคมอุตสาปหรรมอมตะนครรแล้ว  เอกชนหวั่นซ้ำรอยเดิมปี 54 กทม.เฝ้าระวังฝั่งตะวันออกเร่งผันน้ำผ่านกรุงเทพฯชั้นใน "ชายหมู" สั่งเปิดประตุระบายน้ำคลองสองสายใต้ 40 ซม. เฝ้าระวัง 25 ชุมชนนอกแนวคัน จี้สอบปล่อยสินเชื่อโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน

      นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ได้ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี เชิญผู้ประกอบการภายในนิคมกว่า 700 โรงงาน เข้ารับฟังแผนดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่โดยรอบนิคมฯ เนื่องมาจากมีปริมาณน้ำท่วมขังบริเวณทางเข้าออกเฟส 7-9 เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากอิทธิพลพายุส่งให้ผลมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5วันที่ผ่านมาประกอบกับปริมาณน้ำจากภูเขารวมถึงน้ำที่มาจากอำเภอพนัสนิคมไหลเข้ามาสมทบทำให้เกิดการท่วมขังบริเวณทางเข้าออกเฟส 7-9 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อการผลิตแต่อย่างใด

         นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กนอ. ได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบป้องกันโดยการเสริมความแข็งแรงของคันดินเดิม และการสูบระบายน้ำโดยการระดมเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำจำนวน 30 เครื่อง  เตรียมคันกั้นน้ำชนิดติดตั้งเร็ว ระยะทางประมาณ6 กิโลเมตร มาเตรียมพร้อมในพื้นที่และมีการประสานงานกับกรมทางหลวงในการขอให้เพิ่มช่องทางการระบายน้ำบริเวณการก่อสร้างถนนสายบ้านเก่า-พานทอง (ทางหลวงหมายเลข 3466) และขอรับการสนับสนุนเรือดันน้ำจากคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และกองทัพเรือ จำนวน 3 ลำ

     นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  สถานการณ์น้ำวันที่ 8 ต.ค. ขณะนี้มีระดับน้ำท่วมขังบริเวณทางเข้า-ออกนิคมอุตสาหกรรมเฟสที่ 7-9 สูงอยู่ที่ 10 - 20 เซนติเมตร ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานอยู่เพียง 200 โรงงาน
และบริเวณนั้นมีน้ำท่วมขังเป็นเพียง 1ช่องทาง จาก 12 ช่องทางที่ใช้เข้า-ออกของนิคมฯ และอมตะยังมีเส้นทางที่ใช้สัญจรเข้า-ออกอีกหลายทาง
เอกชนหวั่นซ้ำรอยปี54
     นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะกรณีน้ำไหลเข้าท่วมบริเวณถนนนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรีซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตอุตฯยานยนต์และชิ้นส่วนที่สำคัญ
นายณรงค์ฤทธิ์ พานิชชีวะ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ขณะนี้ได้ติดตามการระบายน้ำ 2-3 จุดที่จ.ปทุมธานีใกล้ชิดซึ่งล่าสุดน้ำท่วมชาวบ้านบริเวณนอกคันกั้นน้ำแต่ยังไม่ได้ท่วมเข้าด้านในแต่สถานการณ์ก็ยังคงต้องเฝ้าระวัง ซึ่งวันที่11 ก.ย.จะมีการจัดสัมมนาโดยเชิญกรมชลประทานและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับรู้ข้อมูลด้านการจัดการน้ำ
นายธนิต โสรัตน์  รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้เอกชนมีความวิตกกังวลต่อปัจจัยน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นมากและมีโอกาสที่จะแซงขึ้นเป็นปัจจัยอันดับแรกได้จากเดิมที่เอกชนจะวิตกกังวลต่อปัจจัยเศรษฐกิจโลกเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นการเมืองเนื่องจากหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเริ่มได้รับผลกระทบ ทั้งชลบุรี ปราจีนบุรี นนทบุรี ปทุมธาน

เล็งผันน้ำเข้ากรุงเทพฯ
    วานนี้(8 ต.ค.) นายอดิศักดิ์. ขันตี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า ขณะนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดความสูงอยู่ที่ 1.97ม.รทก. ในขณะเดียวกันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังคงปล่อยน้ำอยู่ที่ 700 ล.บม.ต่อวินที ซึ่งยังถือว่ามีความน่าเป็นห่วง สำหรับพื้นที่ที่ยังคงต้องระวังเป็นพิเศษคือพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร  ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในแม่น้ำนครนายก  แม่น้ำปราจีนบุรี ที่จะไหลผ่านเข้ามาทางเขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งทางกทม.จะต้องเฝ้าระวังจุดนี้เป็นพิเศษ หากมีน้ำผ่านเข้ามามาก จะต้องมีการผันน้ำเข้ามาในกรุงเทพฯชั้นในตามคลองแสนแสบ คลอง13 คลองพระยาสุเรนทร์ คลองหมอแตก คลองสามวา คลองสองสายใต้ หากปริมาณน้ำมากอาจจะทำให้พื้นที่กทม.ชั้นในได้รับผลกระทบบ้าง ดังนั้นสนน.ต้องควบคุมระดับให้พอดี นอกจากนี้บางส่วนก็ยังคงต้องระบายออกทางจังหวัดสมุทรปราการด้วย

ป้อง25ชุมชนกรุงเทพตะวันออก
วันนี้(8 ต.ค.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงตรวจพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำด้านตะวันออกประตูคลองสองสายใต้ ประตูระบายน้ำคลองสามวา ประตูระบายน้ำแสนแสบประชาร่วมใจ โดยประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้จะระบายน้ำไปยังคลอง 13 และออกไปยังคลองหกวาสายล่าง

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ว่า ขณะนี้ระดับน้ำในคลองสองสายใต้ ระดับน้ำยังอยู่ในระดับปกติซึ่งภายในประตูระดับน้ำอยู่ที่ 0.94 ม.รทก.และนอกประตู1.69 ม.รทก  นอกจากนี้ตนยังได้ลงพื้นที่ที่คลองสามวา และคลองแสนแสบประชาร่วมใจ ซึ่งเป็นจุดที่ต้องเฝ้าระวัง โดยระดับน้ำที่คลองสามวาภายในประตูอยู่ที่ 0.62 ม.รทก. ภายนอกประตู1.22 ม.รทก.  ส่วนประตูระบายน้ำคลองแสนแสบประชาร่วมใจระดับน้ำภายในประตูอยู่ที่ 0.55 ม.รทก ภายนอกประตู 0.9 ม.รทก. ส่วนน้ำที่มาจากจ.ปทุมธานีขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่กรุงเทพฯมั้งหมด แต่อาจจะส่งผลกระทบกับพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ

ทั้งนี้ตนได้สั่งการให้สำนักการระบายน้ำ(สนน.) ยกบานประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้เพิ่มขึ้นจากเดิม 10 ซม.เป็น 40 ซม. เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาให้กับชุมชนที่อยู่นอกประตูระบายน้ำ ซึ่งกทม.จะพยายามรักษาระดับการเปิดประตูระบายน้ำ ให้ได้ในระดับดังกล่าว  นอกจากนี้ได้สั่งการให้ผ.อ.เขตเฝ้าระวังดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ 850 ครัวเรือน 25 ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ระดับ 1.98 เมตร และมีแนวโนมว่าจะสูงขึ้น2 เมตร  อย่างไรก็ตามจากการเข้าพบและหารือ กับกรมชลประทาน ได้รับการยืนยันว่าน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังทรงตัว และหากมีปริมาณฝนน้อยอาจจะต้องมีการปล่อยน้ำเข้ามามากขึ้น แต่กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการได้   

เตือนนอกคันกั้นน้ำกทม.-ปริมณฑล
    น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.)  กล่าวว่า ผู้ที่มีบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี และปทุมธานี ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน และมวลน้ำที่มาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 1.90 เมตรขึ้นไป ซึ่งจะทำให้บริเวณที่อยู่นอกคั้นกันน้ำ ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อเข้าบ้านเพิ่มขึ้นกว่าเดิมในช่วงน้ำขึ้นช่วงเช้า และจะลดลงในช่วงตอนบ่ายที่เป็นภาวะน้ำลง  

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 9-10 ต.ค.นี้ น้ำทะเลจะหนุนสูงมาก  และจะไปสูงที่สุดในวันที่ 17 ต.ค.ซึ่งทางภาครัฐเองก็ต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้ดี เพราะประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยา ลงมาจะได้รับผลกระทบอย่างมากนอกจากนี้ มีพื้นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่โดนร่องมรสุมเข้าเต็มพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำที่ท่วมเพิ่มขึ้น รวมไปถึง จ.จันทบุรี  จ.ตราด จ.สระแก้ว และปราจีนบุรี

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า มีพื้นที่ประสบภัยรวมทั้งสิ้น 38 จังหวัด สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร 3,152,083 ไร่ ถนน 5,397 สาย สะพาน 299 แห่ง ท่อระบายน้ำ 426 แห่ง ฝาย/ทำนบ 519 แห่ง น้ำท่วมบ้านเรือน 15,610 หลัง โรงเรียน 225 โรง วัด 399 แห่ง สถานที่ราชการ 57 แห่ง 276 อำเภอ 1,716 ตำบล 13,779 หมู่บ้าน 938,435 ครัวเรือน 3,096,202 คน มีผู้เสียชีวิตรวม 36 ราย

 พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า กองทัพบกยังคงกำลังทหาร 35 กองร้อยเฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชน จำนวน 5,250 นาย รถยนต์บรรทุก 223 คันเรือ 133 ลำ เข้าบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัย  ทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้กำชับให้ทุกหน่วยดูแลและซ่อมบำรุงเครื่องมือบรรเทาภัย ยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะ ที่นำไปออกช่วยเหลือประชาชน ให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหน่วยแพทย์ทหารในพื้นที่น้ำท่วมให้ดูแลสุขภาพร่างกายของกำลังพล

จี้ สอบปล่อยสินเชื่อ3.5แสนล้าน
    ที่รัฐสภา น.ส.เบ็ญจวรรณ เจริญวงษ์ ผู้ประสานงานกลุ่มคณะพลเมืองผู้เป็นพลังทางศีลธรรม ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ รองศาสตราจารย์วิชุดา รัตนเพียร ส.ว.สรรหา เป็นประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบการให้สินเชื่อของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน),ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน),ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน ในโครงการจัดการน้ำตาม พรก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ว่าขัดต่อระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ และขอให้ธนาคารทั้ง 4 แห่งทบทวนการให้เงินกู้ในโครงการนี้ เพราะโครงการดังกล่าวมีประชาชนยื่นฟ้องดำเนินคดีกับรัฐบาลหลายคดี และมีความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย

    ทั้งนี้ เราได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโครงการนี้มาตลอด จนทราบว่ารัฐบาลโยกระทรวงการคลังได้ลงนามในสัญญากู้เงินจำนวน 324,606 ล้านบาทกับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่ง เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.56 ซึ่งเป็นวันก่อนหมดอายุ พรก.กู้เงินฉบับนี้เพียง 3 วัน เราจึงเห็นว่าสัญญาเงินกู้เหล่านี้กระทำการอย่างรีบเร่งก่อให้เกิดข้อเคลือบแคลงว่าขั้นตอนในการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารเหล่านี้เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องหรือไม่ เราจึงขอใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 71 ที่มีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ จึงขอให้กรรมาธิการฯเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาชี้แจงข้อเท็จจริงในกระบวนการอนุมัติสินเชื่อด้วย

จับตา 36 เวที เข้าข่ายผิดกฏหมาย
    นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์  แถลงภายหลังการประชุม ส.ส.ว่า ที่ประชุมมีการวิเคาระห์เรื่องที่รัฐบาลทำขัดต่อรัฐธรรมนูญกรณีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการออกเอกสารประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อออกแบบก่อสร้างการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนโดยประกาศสำนักนายกฯ ประกาศจัดเวทีทั้งหมด 36 แห่ง ตั้งแต่ 15 ต.ค.ถึง 15 ธ.ค.เป็นเวลา 2 เดือน โดยไม่ใช้ชื่อว่าเป็นประชาพิจารณ์เเต่ใช้ว่า เป็นการรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งมีความแตกต่างกัน เพราะการรับฟังความคิดเห็นลักษณะนี้จะเป็นการหลีกเลี่ยงการกระทำตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วการทำประชาพิจารณ์ เพราะต้องมีขั้นตอนแบบแผนที่ชัดเจน ซึ่งทางพรรค จะจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้รัฐบาลจ้องลักไก่ หวังตบตาศาลปกครองเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปได้
    
“ปลอด”จี้ฝ่ายปกครอง-ปชช.กบินทร์บุรีคุยกัน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ (กบอ.) ให้สัมภาษณ์ว่า น้ำที่เข้าท่วมพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เป็นมวลน้ำมาจากเขาใหญ่ รวมถึงเทือกเขาพนมดงรัก สำหรับการแก้ไขปัญหาคือผันน้ำไปยังประเทศกัมพูชา

สำหรับพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจกันของประชาชนและฝ่ายปกครอง จึงอยากขอร้องให้เจรจาและพูดคุยกัน ส่วนการเฝ้าระวังปริมาณน้ำ ที่จะเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขอให้ระวังปริมาณน้ำฝนอย่างเดียว ไม่ต้องกังวลน้ำเหนือ เพราะไม่มีแน่นอน ส่วนกรณีการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ กรมชลประทานและสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแล ส่วนการพูดคุยกับคุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรนั้น นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) จะเป็นผู้นัดหมาย

เติ้งบอกคนปทุมฯทำใจหลังเจอน้ำท่วม
นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะประธานที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีมากถึงร้อยละ 110 ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขอให้คนในพื้นที่จ.ปทุมธานี ที่มีบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำทำใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มีคำสั่งให้รัฐมนตรีทุกคนลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนัก กล่าวว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนายปลอดประสพ รายงานสถานการณ์น้ำและอุทกภัย ว่า ทางฝั่งตะวันออกของประเทศไทยที่มีฝนตกหนักติดต่อกันถึง 3 รอบ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมที่ จ.สระแก้ว ซึ่งหากไม่มีฝนตกใน 10 วันนี้ จะสามารถคลี่คลายสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติได้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะไม่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน

น้ำป่าซัดกุฏิหาย 3 หลัง-ฝายแตก
    ด้านสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดยังวิกฤตโดยเฉพาะที่ จ.จันทบุรี น้ำป่าจาก อ.บ่อไร่ จ.ตราด และน้ำป่าจากเขาเครือหวาย ต.โป่งน้ำร้อน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ได้ซัดกุฏิพระสงฆ์วัดเครือหวาย หมู่บ้านเครือหวาย หมู่ 8 ต.โป่งน้ำร้อน จมหายลอยไปกับน้ำ 3 หลัง เหลือเพียง 1 หลังในสภาพพังเสียหาย โดยน้ำไหลเชี่ยวอย่างรวดเร็วและรุนแรงใช้เวลาเพียงไม่ถึง 30 นาที
ขณะเดียวกันน้ำป่าจาก อ.บ่อไร่ และจากเขาเครือหวายยังได้ไหลกระแทกสะพานคลองบัดกลอง ในหมู่บ้านเครือหวาย กระทั่งคอสะพานขาด พื้นทรุด รถที่สัญจรผ่านสะพานล้อติดบริเวณคอสะพาน ส่งผลให้สะพานอาจพังลงได้ตลอดเวลา ล่าสุดทาง อ.โป่งน้ำร้อนได้สั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านใช้สะพานดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ สะพานคลองบัดกอง เป็นสะพานเชื่อมหมู่บ้านต่างๆ ใน อ.โป่งน้ำร้อน ใช้ขนย้ายผลิตผลทางการเกษตรจากหมู่บ้านต่าง ๆ ใน อ.โป่งน้ำร้อน ไปยังอำเภออื่น นอกจากนี้ กระแสน้ำป่าที่รุนแรงทำให้ฝายเก็บน้ำของกรมชลประทานที่เพิ่งสร้างเสร็จราว 5 เดือน ด้วยงบ 33 ล้านบาท พังเสียหาย และมวลน้ำ ไหลทะลักเข้าไปสู่ประเทศกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง
    
น้ำท่วมสระแก้ว-ระยองยังวิกฤต
    เช่นเดียวกับ จ.สระแก้ว มวลน้ำป่าหลากจาก อ.เขาฉกรรจ์ และ อ.วังสมบูรณ์ ยังคงไหลเข้าท่วมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับตลอดทั้งคืนวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ยังคงมีฝนตกอยู่ ทำให้สถานการณ์น้ำยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะใน อ.เมืองสระแก้ว น้ำยังไม่คลี่คลาย ถนนหลักสาย 33 สุวรรณศรจาก อ.เมืองสระแก้ว มุ่งหน้า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ระดับน้ำยังคงท่วมสูงโดยจุดที่เป็นพื้นที่ต่ำน้ำสูงถึง 2 เมตรไม่สามารถใช้การได้ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่ อ.อรัญประเทศ ก็ยังวิกฤตชาวบ้านต้องทิ้งบ้านเรือนและทรัพย์สินหนีน้ำไปอาศัยถนนเป็นที่หลับนอน

    ด้าน จ.ระยอง ล่าสุดน้ำท่วมแล้วใน 3 อำเภอ คือ อ.อเมือง บ้านค่าย และแกลง พื้นที่การเกษตรเสียหายหลายพันไร่ เทศบาลนครระยองประกาศให้ชาวบ้านบริเวณใกล้อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลและดอกกราย เร่งย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง   

ถนนกาญจน์ขาด-อพยพชาวบ้าน
    นายจำรัส กังน้อย นายอำเภอด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เปิดเผยถึงความเสียหายในพื้นที่จากฝนตกหนักน้ำป่าหลากท่วมฉับพลันว่า มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 2 หมู่บ้าน ต.หนองไผ่ จำนวน 304 ครัวเรือน เดือดร้อน 821 คน พื้นที่การเกษตร 1,470 ไร่ ถนนจมน้ำ 9 สายไม่สามารถสัญจรได้    ส่วน อ.เมือง น้ำท่วมบ้านทุ่งศาลา ต.บ้านเก่า เส้นทางบ้านเก่า-ด่านพุน้ำร้อนถูกกระแสน้ำพัดทางเบี่ยงขาดของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามห้วยน้อย ซึ่งกองพลทหารราบที่ 9 พร้อมทหารจากกองพันทหารช่างที่ 9 นำสะพานประกอบใช้สัญจรชั่วคราวแล้ว

    ขณะที่ถนนสายบ้านเก่า-ด่านพุน้ำร้อนถูกตัดขาดเมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้การเดินทางฝั่งบ้านพุน้ำร้อน 8 หมู่บ้าน สัญจรไม่ได้

คอสะพานสวนผึ้งขาด 2 แห่ง
    ที่ จ.ราชบุรี ยังคงปกคลุมด้วยเมฆฝนและมีฝนตกลงมาเป็นระยะอย่างไม่ขาดสาย โดยน้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรี หลากท่วมพื้นที่ อ.สวนผึ้ง ทำให้ระดับนํ้าในแม่นํ้าภาชีสูงขึ้น จนทําให้คอสะพาน 2 แห่ง ประชาชนไม่สามารถสัญจรได้
กำลังโหลดความคิดเห็น