“ยิ่งลักษณ์-กิตติรัตน์-ชัชชาติ” ร่วมแจงโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้าน “โต้ง” ยันกู้เงินไม่เกินตัวใช้หนี้คืนได้แน่ “ชัชชาติ” เผยเน้นสร้างระบบราง ดึงเอกชนร่วมเงินกู้อาจไม่มากตามแผน ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม “ปลอดประสพ” ให้ประชาชนที่น้ำผ่านเชื่อการตัดสินใจของรัฐบาล ด้าน ผอ.ศูนย์เตือนภัย เตือนระวัง 30 ก.ย.-1 ต.ค. ไต้ฝุ่น “หวู่ติ๊บ” เข้าไทยฝนตกหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน” วันนี้ (28 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ร่วมกันจัดรายการ
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงการวางโครงการอนาคตประเทศไทยปี 2020 (โครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการคมนาคมและขนส่งของประเทศ) ว่า เราอยากจะเห็นว่าการที่เราจะนำเอาโครงสร้างพื้นฐานนี้ไปเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิต ไปเชื่อมโยงกับความอบอุ่นของครอบครัว ไปเชื่อมโยงกับความสุขของคนไทย และที่สำคัญคือ ไปเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นนี้ที่จะวางอนาคตให้แก่ลูกหลานของเราในอนาคตอีก 7 ปี ว่า ลูกหลานของเรานั้นจะมีสิ่งที่ดีขึ้นมาอย่างไร สิ่งนี้ที่เราเชื่อว่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการที่เราจะพูดกันถึงอนาคต ด้วยการจับต้องได้ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานนี้ เพื่อที่จะพูดว่าเราทุกคนจะได้ร่วมกันในการสร้างประวัติศาสตร์ และสร้างอนาคตประเทศไทยของปี 2020
ด้าน นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เราอาจไม่คุ้นกับตัวเลขคำว่าล้านล้าน เพราะสมัยก่อน หรือหลายปีก่อน ขนาดเศรษฐกิจของประเทศก็ไม่ใหญ่มากนัก ดังนั้น เรียนว่าตัวเลขนี้จึงเป็นตัวเลขที่ไม่ใหญ่โต แต่คนที่นำมาสื่ออาจจะไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องของขนาดเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งความสามารถในการที่จะชำระคืนเงินต้นต่างๆ ที่รัฐบาลได้คำนวณให้ดู แต่ก่อนนั้นมีกฎหมายกู้เงินต่างๆ หมดเร็วขึ้นก็เพียงแต่เพิ่มเงินต้นมากขึ้นเล็กน้อย และสามารถดำเนินการให้ลดหนี้ได้รวดเร็ว ฉะนั้น กราบเรียนให้ความมั่นใจว่า ในการดำเนินการตรงนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกินตัวกรอบวินัยการคลัง ซึ่งมีไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถควบคุมไว้ในระดับร้อยละ 50 หรือร้อยละ 60 ของ GDP รัฐบาลสามารถควบคุมได้ และการชำระคืนนั้นสามารถดำเนินการได้ แม้ว่าอยู่ภายใต้ข้อสมมติที่เผื่อขาดเผื่อเหลือไว้มากๆ
ขณะที่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ในโครงการ 2 ล้านล้านบาท จะมี 80% ไปลงทุนที่ระบบราง ก็จะมี 3 ส่วน ส่วนแรกคือ ระบบรถไฟความเร็วสูง อันนี้ประมาณ 39% จะลงไปที่รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หนองคาย กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ แต่ในแฟสแรกจะสร้างที่ทำได้ใน 7 ปี ก่อน ดังนั้น อันที่ 2 จะเป็นรถไฟในกรุงเทพฯ ซึ่งรถไฟในกรุงเทพฯ น่าจะมีอยู่ประมาณ 400,000 ล้าน หรือเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นรถไฟที่พัฒนาเพิ่มอีก 260 กิโลเมตร เพื่อให้เครือข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เป็น 460 กิโลเมตร จะทำให้ขับเคลื่อนได้ดีมากขึ้น อีกโครงการหนึ่งซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญมากคือ รถไฟทางคู่เพื่อประเทศ ส่วนนี้ประมาณ 280 กิโลเมตร อีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นกรุงเทพฯ-เด่นชัย เป็นทางคู่และทำสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ, กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทำทางคู่ทั้งหมด และมีเส้นใหม่คือ บ้านไผ่ไปทางมหาสารคาม มุกดาหาร นครพนม สายใต้คือ กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ต่อไปมาเลเซีย โดยจะเป็นทางคู่ทั้งหมด 2,800 กิโลเมตร คือ ระบบรางทั้งหมด
นายชัชชาติ กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีการเตรียมการไว้ว่าหากไม่สามารถมีเอกชนมายื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดจริงๆ ซึ่งรัฐก็สามารถจะลงทุนได้เอง ตรงนี้จะทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมใหม่คือ เอกชนที่จะมายื่นขอจะตระหนักดีว่าถ้าต้องการทำงานกับภาครัฐจริงๆ เงื่อนไขที่มีกับภาครัฐควรเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ภาครัฐเกิดความคุ้มค่าจริง เพราะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ทำไมรัฐจึงไม่ลงทุนเอง ทำไมจึงไปลงทุนกับเอกชนรายนั้นๆ ฉะนั้นการดำเนินการแบบนี้จะทำให้ได้ข้อเสนอที่ดีขึ้น เพราะจะมีภาครัฐเป็นคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีกรายหนึ่ง และจะทำให้เกิดเงื่อนไขที่ดีที่สุดต่อประเทศ ในกรณีนั้นอาจจะทำให้การลงทุนรวมมียอดที่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาทก็เป็นได้
คราวนี้จะเป็นรูปแบบที่เป็นทางการ และกระจายทั่วภูมิภาค มี 12 เมืองสำคัญ รัฐบาลจะดึงเมืองรอบๆ มาร่วมด้วยจริงๆ ก็ทั้งประเทศ จะขอลงรายละเอียดว่าแต่ละงานหลักการมีอย่างไรบ้าง หลักๆ ในแต่ละจุดจะมีการจัดงาน 3 วัน รัฐบาลจะมีประกอบ 4 ส่วน
ตัวแรกคือ นิทรรศการจะปูพื้นว่าจะทำไปทำไม พื้นฐานเป็นอย่างไร เหตุผลที่ต้องทำเพราะอะไรรายละเอียดโครงการมีอะไรบ้าง ก็จะมีทั้งในแง่ของภาพรวมทั้งประเทศ และในแง่ของจุดย่อยแต่ละจังหวัดที่ลงไปสัมมนา อันที่สอง จะเป็นเรื่องของการเสวนาจะไปพูดในภาพรวมก่อนตรงนี้ไม่สำคัญมาก แต่ที่สำคัญคือ คนท้องถิ่นที่จะเข้ามาร่วมเสวนากันว่าหอการค้ามองอย่างไร จังหวัดมองอย่างไร ประชาชนมีข้อเสนอแนะอย่างไร อยากจะเป็นแบบไหน เช่น จังหวัดหนองคาย อยากจะเป็นศูนย์กลางของอะไร จังหวัดเชียงใหม่ อนาคตอยากเป็นอะไร
อันที่สาม อาจจะเป็นกิจกรรมที่มีบันเทิงบ้าง เพื่อให้ประชาชนมาร่วมงานมากขึ้น อันที่สี่ จะเป็นเรื่องของโอทอป ก็เป็นส่วนสำคัญของโครงการนี้จริงๆ โอทอปถ้าพูดตามความเป็นจริงก็คือรากหญ้า ฉะนั้นโครงการนี้โอทอปจะมีความสำคัญ รัฐบาลจะนำความเจริญไป นำนักท่องเที่ยวไปพัฒนาเมือง หลังจากนั้นจะไปพัฒนาที่ตัวของโอทอปขายของได้ นี่ก็คือส่วนหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ 2 ของรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน” นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ร่วมกันดำเนินรายการเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น
โดย นายปลอดประสพ กล่าวว่า ภาพรวมปีนี้เทียบกับปีที่แล้วน้ำฝนก็ใกล้เคียงกันมาก น้ำท่าคือน้ำฝนมาเป็นน้ำที่อยู่บนแผ่นดิน อยู่ในแม่น้ำ อยู่ในลำคลอง ก็ใกล้เคียงความแตกต่างคือปีนี้ฝนช้ากว่าปีที่แล้วเล็กน้อย ประมาณ 1 เดือน 2.ฝนตกภาคเหนือตอนล่าง หรือภาคกลางมาก ภาคเหนือตอนบนน้อย 3.ฝนตกภาคตะวันออกมาก ตะวันตกเฉียงใต้ทางฝั่งทะเลอันดามันมาก 4.ความแตกต่างที่มีผลต่อประชาชนฝนตกเป็นหย่อมๆ ตกเฉพาะที่ ถ้าเกิดการท่วมก็จะท่วมเฉพาะที่ ผลของการที่ฝนตกทางเหนือน้อยก็จะทำให้เขื่อนทางเหนือที่มีเขื่อนสำคัญอยู่ 2 เขื่อนคือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ 2 เขื่อนรวมกันแล้วมีน้ำเพียง 50% น้ำ 5 0% ข้อดีคือ ถ้าเกิดเหตุ หรือสถานการณ์ใดๆ ขึ้นมาตอนนี้เกิดมีพายุเข้าทางเหนือ 2 เขื่อนนี้จะรับน้ำได้ประมาณ 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่ามาก คือน้ำครึ่งหนึ่งของน้ำท่วมใหญ่ ฉะนั้นโอกาสที่จะมีน้ำเหนือหลากอย่างมากมาท่วมภาคกลาง ผลจากการที่ฝนตกภาคเหนือตอนล่าง หรือภาคกลางตอนบนมาก ผลที่ตามมาคือว่าที่ลุ่มเป็นหย่อมๆ จะมีน้ำ แม่น้ำที่ตลิ่งต่ำๆ จะล้น เห็นได้ชัดเจนกรณีที่บางบาล ตำบลโผงเผง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่าน้ำยังอยู่ในลำน้ำส่วนใหญ่ ความเสียหายที่จะมีต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ในทุ่ง ในเมือง หรือแม้แต่ในที่ต่ำก็จะน้อย ผลจากการที่ฝนตกเฉพาะที่จะมี 2 จุดที่สำคัญ จุดที่ 1 คือ ภาคตะวันออก ที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งรับน้ำมาจากเขาใหญ่ และเทือกเขาบรรทัด และตกเฉพาะที่ และตกซ้ำ ฉะนั้นปีนี้ลุ่มน้ำในปราจีนจะสูงที่สุดในรอบ 26 ปี ผลกระทบคือ ตอนนี้น้ำท่วมปราจีนกับกบินทร์บุรี ประกอบกับแม่น้ำปราจีน แม่น้ำนครนายก เป็นแม่น้ำขนาดเล็ก การระบายก็ค่อนข้างยาก และเป็นการระบายลงแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำบางปะกง มีลักษณะพิเศษตรงที่ว่าน้ำทะเลขึ้นไม่สูงมาก เพราะครึ่งหนึ่งของแม่น้ำการระบายค่อนข้างยาก แม่น้ำเจ้าพะยา ซึ่งมีผู้คนเกี่ยวข้องมากที่จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยนาท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสิงห์บุรี น้ำยังต่ำกว่าตลิ่งมาก ยกเว้นแถวบางบาล สุดท้ายกรุงเทพฯ ในภาพรวมไม่มีปัญหา เพราะรังสิตก็ไม่มีน้ำจะมีปัญหาเล็กๆ ก็คือ ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ก็ไม่หนักมาก ยังสามารถระบายน้ำเข้าแม่กลอง ท่าจีนได้ นี่คือภาพรวม ณ วันนี้
นายปลอดประสพ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ฝนตกหนักปีนี้แถวๆ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ แต่ว่าไม่น่าจะท่วมนาน เพราะอยู่ใกล้แม่น้ำโขง และแม่น้ำโขงยังไม่มาก เชื่อว่าจังหวัดศรีสะเกษ วันนี้น่าจะดีขึ้น แต่พรุ่งนี้จังหวัดอุบลราชธานีอาจจะแรงขึ้น เพราะไหลลงแม่น้ำโขง ส่วน อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ถ้าฝนไม่เทลงมาอีกก็น่าจะสูงสุดแล้ววันนี้ จริงๆ ก็มีข่าวร้ายอยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งท่านผู้อำนวยการสมศักดิ์ คงจะมาเล่าให้ฟัง ภายใน 2 วันนี้มีแนวโน้มมากนักที่เราจะได้รับผลเพิ่ม เพราะทางร่องความกดอากาศต่ำ เดิมทั้งพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามา ตอนนี้เรากำลังมองอยู่ว่าจะเข้าแนวไหน ถ้าเข้าแนวสูงก็เป็นความสุขเพราะจะเติมน้ำในเขื่อน แต่ถ้าเข้าแนวต่ำคือ เข้าตอนกลางประเทศอาจจะสร้างความเดือดร้อนให้นิดหน่อย แต่เราก็ได้เตรียมการ เวลานี้เราก็พยายามระบายน้ำออกจากทุ่งมาลงลำน้ำแล้วออกทะเล
ส่วนอากาศในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างน่ากังวลอะไรหรือไม่นั้น น.อ.เอกสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ อากาศแจ่มใสในหลายพื้นที่ เพราะสภาพโดยรวมแล้วขณะนี้ความกดอากาศสูง มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนลงมาทางใต้ จึงทำให้ร่องฝนที่พาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้น ก็ทำให้อย่างเมื่อวานฝนตกที่ภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ หลายพื้นที่ตอนบนมีปริมาณน้ำมาก และทำให้หลายพื้นที่ต้องขอเรียนว่าเฝ้าติดตามด้วย ในตลอดลำน้ำ ที่ลาดเชิงเขา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แถวแม่สรวย หรือสายน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขงก็จะมีผลกระทบบางที่เอ่อล้นบ้างในวันนี้ เพราะทราบว่ามีน้ำสีขุ่น และไหลลงสู่แม่น้ำโขงนะครับ จึงต้องฝากเตือนไปด้วย ผลดีของการที่ร่องฝนตกตอนบนก็จะไปเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้กรุณากล่าวไว้เมื่อสักครู่ว่า เราทำให้เติมน้ำในเชื่อน 2 เขื่อนเพิ่มมากขึ้น ก็กำลังทดสอบดูว่าจะเพิ่มขึ้นมาเท่าไหร่
น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า อีกประการหนึ่ง วันที่ 28-29 กันยายน นี้ ร่องฝนจะลงมาภาคเหนือตอนล่างก็จะทำให้ปริมาณฝนตกในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์ ก็คงจะมีฝนในพื้นที่ดังกล่าวที่จะมีผลกระทบจากพื้นที่เดิมๆ ที่เคยมีผลกระทบบ้าง รวมถึงภาคอีสานแถวๆ หนองคาย แถวพื้นที่ตอนบน จะเห็นได้ว่าเป็นการเคลื่อนตัวขยับตัว ทำให้ไม่มีข้อแตกต่างเหมือนอย่างที่รองนายกรัฐมนตรีพูดเหมือนทางภาคอีสานคือ ตกแล้วอยู่พื้นที่เดียวกระจุกตัว คือตกแค่ครึ่งเดียวแล้วเคลื่อนตัวเป็นปริมาณฝนที่แพร่กระจายก็จะทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการบริหารจัดการน้ำจากกรมชลประทาน และจากท้ายเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่ต่างๆ สามารถรองรับน้ำได้ก็ยังอยู่ในระบบบริหารจัดการคือ ทางจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี หรือทางชัยนาท ตลิ่งยังสามารถรองรับน้ำ และก็ทางจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมมาหลายวันแล้ว ที่จะรู้ว่าน้ำก้อนนี้จะต้องมีผลลงมา
“สิ่งหนึ่งที่กังวลใจคือ สิ่งหนึ่งที่ติดตามอยู่ต่อเนื่อง คือวันที่ 30 กันยายน-1 ตุลาคม นี้ เจ้าพายุโซนร้อนที่มีชื่อว่า หวู่ติ๊บ (WUTIP) แปลว่าผีเสื้อ ในภาษามาเก๊า จะขึ้นฝั่งเวียดนาม และคงจะลดระดับความรุนแรงลงเป็นดีเปรสชันเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ โชคดีถ้ามันสลายตัวไปในเวียดนาม หรือไม่ถึงลาวไม่มาบ้านเราก็เบาใจไป แต่ถ้ามาก็ได้ประเมินสถานการณ์ว่า มีขั้นรุนแรงที่สุดที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีพูดถึงคือ ตอนกลาง จะเข้าทางอีสานระหว่างจังหวัดมุกดาหารกับนครพนม ก็จะทำให้พื้นที่ตลอดริมน้ำโขงต้องเฝ้าติดตามวันที่ 30 กันยายน-1 ตุลาคม นี้ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร นครพนม และอุบลราชธานี พอวันที่ 2 ตุลาคม ถ้ายังมีความรุนแรงอยู่ก็จะดึงเข้าร่องฝนจะทำให้กรุงเทพมหานคร และภาคกลางมีฝนตกหนัก ก็ยังมีโอกาสที่เราต้องติดตามกันอยู่ ต้องขออนุญาตเรียนว่าตอนนี้ยังเป็นสถานการณ์ที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้กรุณาพูดว่า เป็นสิ่งที่เรากังวลใจแต่สถานการณ์ต่างๆ ทางท่านรองนายกรัฐมนตรีได้รีบเรียกเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเข้ามาระดมสรรพกำลังเพื่อที่จะเตรียมการที่จะต้องลงพื้นที่เพื่อจะต้องไปให้ส่วนหน้า จริงๆ เรามีอยู่แล้วทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีศูนย์ส่วนหน้าอยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องเตรียมเจ้าหน้าที่ หรือส่วนต่างๆ เข้าไปเพิ่มเพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อุ่นใจ”
ส่วนพายุภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ หากเทียบกับปี 2554 ที่ผ่านมา แตกต่างกันอย่างไร น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ให้เปรียบเทียบกับปี 2555 ลักษณะคล้ายกับปี 2555 เพียงแต่จะมีผลกระทบรุนแรงอยู่บ้างที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมากกว่า แต่พื้นที่อื่นๆ จะเหมือนกับปี 2555 อยากเปรียบเทียบให้เห็นสภาพน้ำที่บางไทร เมื่อปี 2554 ปริมาณน้ำอยู่ที่ 3,800 ลูกบาก์ศเมตร/วินาที ขณะนี้อยู่ที่ 1,500-1,700 ลูกบาก์ศเมตร ขอให้สบายใจได้ พื้นที่ตลอดแนวริมน้ำเจ้าพระยาที่มีผลกระทบ ซึ่งพี่น้องประชาชนมีวิถีชีวิตที่คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ตั้งแต่ก่อนปี 2554 เมื่อวานนี้ได้ลงพื้นที่ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ชาวบ้านพอรับได้ พื้นที่อื่นที่อยู่ในแนวทางกั้นน้ำเป็นส่วนของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้มีการจัดประชุมทุกวัน และสั่งการในพื้นที่ตลอด
ส่วนการเตือนภัยที่ถูกมองว่ายังไม่ทันท่วงที ต้องฟังจากที่ไหนอย่างไรบ้างให้ชัดเจนที่สุด น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องของการแจ้งเตือนภัยมีระดับในการแจ้งเตือนภัยอยู่ และ พ.ร.บ.แจ้งเตือนภัยในปี 2550 ขณะนี้รัฐบาลกำลังนำข้อมูลจากทุกหน่วยงานอย่างที่ท่านรองนายกฯ ได้บูรณาการว่านำผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมารวมกันเป็น Single Command ข้อมูลกำลังวิเคราะห์ประเมินว่าจะมีผลระทบต่อพื้นที่ใด หลังจากนั้น รัฐบาลจะแจ้งไปยังพื้นที่นั้นโดยมีขั้นตอนในการแจ้งข่าวว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ถ้ามีก็ให้เฝ้าระวัง และถ้ารุนแรงขึ้นก็จะแจ้งเตือนภัยไม่มีอะไรก็ยกเลิกสถานการณ์ การแจ้งจะมีขั้นตอนในแต่ละระดับภัยของท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นจะเป็นคนดำเนินการตามกฎหมายรัฐบาลจะผ่านการดำเนินการตามระบบ Single Command ไปสู่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของรัฐที่จะต้องดูภาพรวมทั้งหมดสู่ถึงจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย ส่วนอีกช่องทางหนึ่งคือ ผ่านทางสื่อสารมวลชน ผ่านทางระบบ Social Network ข้อความสั้น หรือสิ่งต่างๆ หรือผ่านระบบมือถือที่ทันสมัย รวมทั้งหอกระจายข่าวหอเตือนภัยในพื้นที่ระบบวิทยุต่างๆ ที่วางไว้ทุกช่องทางซึ่งอยากให้เห็นว่าปรากฏการณ์ที่ผ่านมาปี 2555-2556 เราจะเห็นผลกระทบในพื้นที่แตกต่างเพราะประชาชนได้รับการแจ้งเตือน และย้ำเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสิ่งที่สำคัญคือ เครือข่ายภาคประชาชนให้ข้อมูลเข้าไปด้วย ซึ่งรัฐบาลนำข้อมูลส่วนนี้มาประมวล และมาประกอบการตัดสินใจกับเครื่องมือวิทยาศาสตร์ส่งไปอีกทางเพื่อให้ชัดเจนขึ้น ตรงนี้เป็นหัวใจหลัก หัวใจหลักขณะนี้คือ พี่น้องประชาชนต้องเข้าใจขั้นตอนการดำเนินการแต่ละขั้นตอนบางคนนำขั้นตอนมาแจ้งข่าวมาตกใจเป็นเตือนภัยไป ก็มีขั้นตอนที่เราต้องทำความเข้าใจขณะนี้เราจะทำอย่างไรสำหรับผู้ให้ข่าวอย่างพวกเรา คือ พวกเราที่เป็นข้าราชการจะให้ผู้รับข่าวเข้าใจภาษาเดียวกันว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร เราจะต้องดำเนินการอย่างไรเป็นภาษาง่ายๆ กับชาวบ้าน
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ที่กังวลว่าช่วงใกล้นี้น้ำจะท่วม หรือกังวลอาจจะมีฝนตกลงมามากก็ต้องติดตามทางการเตือนภัยอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงว่าแนวป้องกันที่ทำไว้ก่อนหน้านี่แล้วน่าจะสามารถป้องกันกรุงเทพฯ ให้รอดพ้นจากน้ำท่วมได้ด้วยหรือไม่นั้น นายปลอดประสพ กล่าวว่า ไม่ว่าคนกรุงเทพฯ หรือประชาชนท่านใดอยากให้ระลึกถึงปี 2554 ไว้มากๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นความเสียหายเป็นอย่างไร และรัฐบาลมีแผนอย่างไรที่จะป้องกันระยะยาวก็ขอความร่วมมือช่วยกันอนุญาต อนุมัติให้เกิดขึ้น เพราะเป็นความปลอดภัยของทุกคน