พระนครศรีอยุธยา - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ จัดหน่วยสงเคราะห์เคลื่อนที่ออกช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในอยุธยา ขณะที่ชาวกรุงเก่าโวยหน่วยงานรัฐไม่สนใจหลังน้ำท่วมโบราณสถานวัดกุฎีดาว นานกว่า 1 เดือน เริ่มเน่าเหม็น อุตุฯ เตือนฝนยังตกหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า วันนี้ (25 ก.ย.) ในเวลา 11.00 น. มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบให้ นายประสงค์ พิทูรกิจจา และนายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ พร้อมด้วยกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดินทางไปมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ณ วัดท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จำนวน 1,000 ครัวเรือน จากนั้นเวลา 15.00 น. จะเดินทางไปมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ณ ร้านอาหารครัวคุณแหม่ม อำเภอเสนา จำนวน 1,200 ครัวเรือน และเวลา 17.00 น. เดินทางไปมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ณ ที่ว่าการอำเภอบางบาล จำนวน 1,500 ครัวเรือน
วันเดียวกันนี้ เมื่อเวลา 07.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ที่โบราณสถานวัดกุฎีดาว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้น้ำฝนที่ท่วมขังบริเวณภายในวัดดังกล่าวน้ำได้เน่าเหม็น และมีกลิ่น ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ติดกับโบราณสถานมีความเป็นห่วง เกรงว่าน้ำที่ท่วมขังสูงเกือบถึงเข่ามานานกว่า 1 เดือน ภายในโบราณสถานวัดกุฎีดาว จะไหลซึมเข้าไปยังภายในโบราณสถานได้รับความเสียหาย
อีกทั้งน้ำที่เน่าเหม็น และต้นไม่ที่กำลังจะยืนต้นตายในบริเวณดังกล่าว ยังทำลายภูมิทัศน์และความสวยงามของโบราณสถาน โดยในช่วงนี้ยังคงมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนี้ชาวบ้านเกรงจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดีต่อการท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงวอนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายอย่างเร่งด่วนต่อไป
อุตุนิยมวิทยาเตือนฝนยังตกหนัก
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเรื่อง “ฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย” ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 25 กันยายน 2556 เวลา 04.00 น. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ร่องมรสุมมีกำลังแรงขึ้น และพาดผ่านประเทศไทยดังนี้
ในวันที่ 25 กันยายน 2556 จะพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน แพร่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ และนครพนม
ในช่วงวันที่ 26-27 กันยายน 2556 จะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร และยโสธร
ส่วนในช่วงวันที่ 28-29 กันยายน 2556 จะพาดผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี นครนายก ปราจีนบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝนเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนัก และลมกระโชกแรงได้บางพื้นที่ตามแนวร่องมรสุม จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักไว้ด้วย
อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน และเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งประเทศเวียดนามในช่วงวันที่ 30 กันยายน ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2556 นี้ ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีฝนเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง
อธิบดี ปภ.สรุปสถานการณ์อุทกภัยใน 27จว.
ปชช.เดือดร้อน 1.7 ล้านคน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 ถึงปัจจุบัน เกิดสถานการณ์อุทกภัย รวม 27 จังหวัด 172 อำเภอ 926 ตำบล 6,647 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 499,270 ครัวเรือน 1,798,270 คน บ้านเรือนเสียหาย 4,069 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 659,077 ไร่ ถนน 850 สาย สะพาน 59 แห่ง ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคกลาง 4 จังหวัด ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ภาคใต้ 1 จังหวัด ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 2 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 25 จังหวัด แยกเป็น น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขัง 22 จังหวัด และน้ำล้นตลิ่ง 3 จังหวัด
ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 25 - 28 กันยายน 2556 จะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีน้ำท่วมขังอยู่แล้ว อีกทั้งกรมชลประทาน ต้องเร่งระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกเหนือเขื่อนในช่วงดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้ชุมชนและพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ปีนี้สถานการณ์น้ำในภาพรวมจะน้อยกว่าปี 2554 แต่ยังคงมีปัจจัยจากปริมาณฝนและน้ำทะเลหนุน อาจส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ห่วงใยสถานการณ์อุทกภัย ได้สั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำชับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานการดำเนินงาน คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย อย่างใกล้ชิด