xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ตกใจ! น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น-มท.เผย 21 จว.ท่วมแล้ว “อุบลฯ” น่าห่วงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ ดูระดับน้ำหน้าราชนาวิกสภา กองทัพเรือ ห่วงระดับน้ำสูงขึ้น สั่งกองทัพเรือติดตามใกล้ชิด อีกด้านที่มหาดไทย ประชุมด่วนถกรับมือป้องกันน้ำท่วม “รอยล” เผยตอนนี้เกิดอุทกภัยแล้ว 21 จังหวัด ประชาชนเดือดร้อน 604,788 คน “อุบลราชธานี” น่าห่วง สั่งทุกจังหวัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า



วันนี้ (23 ก.ย.) เมื่อเวลา 16.00 น.ที่ราชนาวิกสภา กองทัพเรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยืนดูระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณระเบียงหอประชุมราชนาวิกสภา ก่อนการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่า ซึ่งนายกฯ แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ให้กองทัพเรือติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ใช้เรือผลักดันน้ำเร่งระบาย พร้อมระบุว่าได้สั่งการให้ทุกจังหวัดมีความเชื่อมโยงในการระบายอย่างเป็นระบบ มั่นใจน้ำเหนือเขื่อนจะมีปริมาณไม่มาก ขณะที่น้ำใต้เขื่อนจะมีการเร่งระบายไปตามพื้นที่รับน้ำที่เตรียมไว้ เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่ กทม.สั่งเตรียมเครื่องสูบน้ำ เรือดันน้ำ ร่วมกับ กทม.เร่งระบายน้ำอีกทางหนึ่งแล้ว ซึ่งเบื้องต้น กทม.ได้เตรียมแผนรับมือตามที่รัฐบาลวางแผนไว้แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมเอ่อล้นจนระบายไม่ทัน ก็หวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ชาวบ้านประท้วงขอเปิดประตูระบายน้ำ

อีกด้านหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากเข้าประชุมอาทิ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมชลประทาน และนายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เป็นต้น

โดย นายจารุพงศ์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาหลายจังหวัดมีฝนตกหนักจากร่องฝน และดีเปรสชันเคลื่อนตัวผ่าน ทำให้เกิดฝนตกหนักและเกินน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ ทำให้กลายเป็นข่าวที่ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือหากมีสถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้น

นายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยขณะนี้เกิดใน 21 จังหวัด 114 อำเภอ มีประชาชนเดือดร้อน 604,788 คน แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด, ภาคเหนือ 4 จังหวัด, ภาคกลาง 7 จังหวัด, ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคใต้ 1 จังหวัด แต่โดยรวมแล้วน้ำปีนี้มากกว่าปี 2555 แต่ยังน้อยกว่าปี 2554 โดยจากการตรวจสอบปริมาณน้ำสถานีบ้านค่ายจิระประวัติ จ.นครสวรรค์ พบว่าแม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถรองรับน้ำได้อีก แต่ที่น่ากังวลคือในวันที่ 25-29 ก.ย.นี้ จะมีร่องมรสุมพาดผ่านเข้ามาทางภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างอีกรอบ ซึ่งจะทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาคกลาง, กทม., ปริมณฑล และภาคตะวันออก ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดคือ เขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งขณะนี้มีน้ำอยู่ 92% ของความจุ สามารถรับได้อีกแค่ 17 ล้าน ลบ.ม.และเขื่อนลำนางรอง มีน้ำอยู่ 81% ของความจุ หากฝนตกลงมาอย่างหนักอีกรอบ จะทำให้น้ำจากเขื่อนลำนางรองจะทะลักออกไปทางจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนตัวพื้นที่น่าเป็นห่วงคือ จ.อุบลราชธานี ที่จะต้องรับน้ำจาก จ.นครราชสีมา และ จ.สุรินทร์ ซึ่งหากเกิดฝนตกในพื้นที่จะทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งได้

“การระบายน้ำผ่านแม่น้ำสายหลักยังสามารถรับน้ำได้อยู่ ไม่จำเป็นต้องผันน้ำเข้าทุ่ง เพราะจะกระทบกับเกษตรกรที่อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยจะเริ่มพร่องน้ำออกจากเขื่อนขุนด่านปราการชล และเขื่อนลำนางรอง 30 ล้าน ลบ.ม./วัน เช่นเดียวกับเขื่อนเจ้าพระยาที่ขณะนี้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้นวันละ 1 เซนติเมตร จำเป็นต้องระบายน้ำออกอย่างน้อยที่สุด 200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้น้ำในเจ้าพระยาที่สิงห์บุรีเพิ่มขึ้น 20 เซนติเมตร และที่พระนครศรีอยุธยา 30-40 เซนติเมตร” นายรอยลกล่าว

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันฯ กล่าวว่าจะมีการประสานกับ กทม. ปริมณฑล รวมทั้งหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดการประสานงานในภาพรวม ทั้งนี้ทางกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า โดยมีผู้ว่าฯ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และให้แต่ละอำเภอตั้งศูนย์ประสานงานขึ้นมา เพื่อระดมกำลังเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครจัดวางกระสอบทราย และเครื่องสูบน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ย่านชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และโบราณสถานเอาไว้ให้พร้อม




กำลังโหลดความคิดเห็น