รองนายกฯ ยันสถานการณ์ระบายน้ำยังไม่น่าห่วง แต่อ่วมแน่กรุงเก่า ริมน้ำ แย้มยกพื้นสูงช่วย ด้านเลขาฯ สบอช.เผยพายุไปญวนแล้ว ทะเลหนุนต่ำกว่าตลิ่งทำเจ้าพระยาไม่น่าห่วง ขณะที่โฆษกกลาโหม รับ 15 จว.เละ ระบุนายกฯ สั่งทหารช่วยชาวบ้าน ยึดแผนปี 54 ทัพเรือส่ง 16 ลำดันน้ำ 3 คลอง มั่นใจไม่ท่วมซ้ำรอย
วันนี้ (22 ก.ย.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผยสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า ยังต้องติดตามสาเหตุที่ส่งผลต่อระดับน้ำ 3 ส่วน คือ ปริมาณน้ำฝนตกท้ายเขื่อน ปริมาณน้ำที่เกษตรกรระบายออกจากพื้นที่เพื่อเริ่มเก็บเกี่ยว และระดับน้ำทะเลที่ปรับเปลี่ยน เนื่องจากทั้ง 3 ปัจจัย เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่น่าเป็นห่วง และยังสามารถระบายน้ำได้ตามปกติ แต่อาจส่งผลต่อประชาชนริมแม่น้ำ และพื้นที่ลุ่ม โดยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา น่าเป็นห่วงมากที่สุด โดยมีแนวคิดจะยกระดับที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ให้สูงขึ้น ซึ่งในระยะ 150 ปีที่ผ่านมา บ้านเรือนใน จ.พระนครศรีอยุธยา มีการยกบ้านสูงตามระดับน้ำมาแล้ว 3 ครั้ง
ด้านนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงาน นโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวว่า จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า พายุที่จะพัดผ่านได้เปลี่ยนแปลงเส้นทางไปยังเวียดนาม และฮ่องกงแล้ว ส่วนน้ำทะเลหนุนสูงสุดวันนี้ประมาณ 144 เซนติเมตร ซึ่งต่ำกว่าระดับตลิ่ง 40 เซนติเมตร ทำให้สถานการณ์โดยรวมของลุ่มน้ำเจ้าพระยายังไม่น่าเป็นห่วง
ขณะที่กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 10.00 น.พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่าจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งเป็นผลจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันที่ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม ส่งผลให้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ทำให้หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกได้รับผลกระทบจากดินโคลนถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่18 ก.ย. จนถึงปัจจุบัน รวม 15 จังหวัดคือ นครราชสีมา, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, กาญจนบุรี, นครนายก, อยุธยา, อ่างทอง, สิงห์บุรี, ลพบุรี, นครสวรรค์, พิษณุโลก, พิจิตร, กำแพงเพชร และปราจีนบุรี
พ.อ.ธนาธิป กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการกองทัพไทย โดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเหล่าทัพเร่งให้การสนับสนุนส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิด ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทั้ง 15 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง และเต็มขีดความสามารถ ในอันที่จะลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยให้ยึดถือแผนบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม พุทธศักราช 2554 เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานตามความรับผิดชอบ รวมทั้งได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิด และให้มีการรายงานผลการปฏิบัติการช่วยเหลือให้ทราบตามสายการบังคับบัญชาอย่างต่อเนื่อง
พ.อ.ธนาธิป กล่าวต่อว่า ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม ได้จัดกำลังพลจำนวนทั้งสิ้น 1,500 นาย พร้อมยุทโธปกรณ์ ประกอบด้วย รถยนต์บรรทุก จำนวน 35 คัน รถยนต์โกยตัก จำนวน 5 คัน รถลากจูง จำนวน 3 คัน เรือท้องแบน 29 ลำ เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย เช่น ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการกองทัพไทย โดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จัดกำลังพล และยุทโธปกรณ์ รวมทั้งเรือท้องแบนช่วยเหลือการขนย้ายสิ่งของไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย รวมทั้งการสนับสนุนการสัญจรของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ดำเนินการซ่อมแซมคอสะพานที่ได้รับความเสียหาย และเปิดเส้นทางสัญจรที่ถูกดินโคลนถล่มในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก จัดกำลังพลยุทโธปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสนับสนุนส่วนราชการในการขนย้ายขึ้นที่สูง พร้อมจัดทำแนวป้องกันน้ำท่วมด้วยกระสอบทราย เปิดเส้นทางสัญจรจากดินโคลนถล่ม รวมทั้งสนับสนุนจังหวัดในการจัดตั้งศูนย์พักพิงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งติดตั้งพนังกั้นน้ำ
พ.อ.ธนาธิป กล่าวว่า ในส่วนของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ จัดกำลังพลยุทโธปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสนับสนุนส่วนราชการ ติดตามสถานการณ์ และพร้อมให้การช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์ หรือได้รับการร้องขอ โดยเตรียมความพร้อมของเรือหลวงตาปี และเรือหลวงสีชัง อากาศยานเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ลำ พร้อมชุดปฏิบัติการพร้อมปฏิบัติหน้าที่ หมู่เรือเฉพาะกิจบรรเทาสาธารณภัยทางทะเลกองทัพเรือ ภายใน 48 ชั่วโมง และส่งเรือผลักดันน้ำ จำนวน 16 ลำ เข้าประจำในพื้นที่เสี่ยงในคลองบางเขน คลองทวีวัฒนา และคลองพระยาราชมนตรี เพื่อสนับสนุนการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่คน กทม.ว่า น้ำจะไม่ท่วมเหมือนปี 54 อย่างแน่นอน
สำหรับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ จัดกำลังพลยุทโธปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและสนับสนุนส่วนราชการ โดยสนับสนุนอากาศยาน จำนวน 3 ลำ บินตรวจพื้นที่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพจะให้การสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนต่อไป โดยจะใช้กำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง ทั้งในขณะที่เกิดน้ำท่วม และหลังน้ำลด เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยเร็วที่สุด