กทพ.เอ็มโอยู เอสซีจี ร่วมพัฒนานวัตกรรมการบำรุงรักษาระบบทางด่วน ทั้งหุ่นยนต์ตรวจสอบสภาพแทนคนในพื้นที่อันตราย กำแพงกันเสียงบนสะพานที่น้ำหนักเบา แต่แข็งแรงเท่าเดิม และออกแบบตู้เก็บค่าผ่านทางพิเศษโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศและมียางพาราเป็นส่วนผสม คาดแล้วเสร็จปี 60 “ผู้ว่าฯ กทพ.” มั่นใจช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายด้านซ่อมบำรุง
นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการวิจัยและพัฒนา กับเอสซีจี เคมิคอลส์ ว่าเป็นความร่วมมือเพื่อพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added : HVA) จากวัตถุดิบในประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมให้กับ กทพ. โดยเน้น 3 นวัตกรรมหลัก ได้แก่ หุ่นยนต์ตรวจสอบสภาพสิ่งปลูกสร้าง ทดแทนการทำงานของคนในพื้นที่อันตราย, กำแพงกันเสียงบนสะพานด้วยพลาสติกน้ำหนักเบา แต่แข็งแรงเท่าเดิม และตู้เก็บค่าผ่านทางที่ออกแบบพิเศษตามหลักสรีรวิทยา คาดว่าโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2560 โดยในช่วง 6 เดือนแรกจะเป็นช่วงวิจัยและพัฒนาร่วมกันก่อน เพื่อกำหนดรูปแบบ ความต้องการที่ตรงกันก่อนนำไปเริ่มใช้
ทั้งนี้ ระบบทางด่วนมีระยะทางไปกลับกว่า 400 กม. มีสะพานขึง 2 แห่ง คือ สะพานพระราม 9 ซึ่งใช้งานมาเกือบ 30 ปี และสะพานวงแหวนกาญจนาภิเษก ใช้งานแล้วเกือบ 10 ปีจะต้องมีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงอย่างสม่ำเสมอ การวิจัยเพื่อเพิ่มศัยภาพในการซ่อมบำรุง ให้มีความสะดวกรวดเร็วและประหยัด ซึ่งจะต้องหารือร่วมกันเพื่อกำหนดรายละเอียดประเด็นที่ต้องการจะตรวจสอบก่อน ซึ่งเอสซีจีมีหุ่นยนต์ที่สามารถตรวจสอบในพื้นที่อันตรายและวิเคราะห์รายละเอียดได้หลายเรื่อง เช่น ความแข็งแรงของเนื้อโลหะ เป็นต้น คาดว่าในเดือน พ.ย.จะชัดเจนเพื่อเริ่มงานร่วมกัน
“ที่ผ่านมา กทพ.ใช้คนในการตรวจสอบสะพานแขวน โดยส่วนที่เป็นสลึงขึงแต่ละเส้นซึ่งมีความยาวตั้งแต่ 51-202 เมตรนั้นจะใช้เวลาถึง 3 วัน แต่หากใช้หุ่นยนต์ตรวจสอบจะใช้เวลาเพียง 20 นาที นอกจากรวดเร็วแล้วยังปลอดภัยอีกด้วยเพราะต้องทำงานในพื้นที่ซึ่งมีรถวิ่ง โดยแต่ละปี กทพ.มีงบซ่อมบำรุงทางด่วนทั้งหมดประมาณ 300-400 ล้านบาท เช่น ซ่อมผิวจราจร ปรับปรุงไฟฟ้าแสงสว่าง” นายณรงค์กล่าว
ส่วนการออกแบบกำแพงกันเสียงนั้น หากสามารถวิจัยพัฒนาโดยใช้วัสดุที่เบา ผลกระทบจากอุบัติเหตุลดลงและใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมโดยปัจจุบันกำแพงกันเสียงมีต้นทุน 7,000-8,000 บาทต่อ 1 เมตร หากพัฒนาใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมแล้วต้นทุนเท่าเดิมถือว่าเสมอตัว แต่ได้ประโยชน์เรื่องใช้ผลิตผลในประเทศ แต่หากได้ต้นทุนลดลงถือว่าได้ประโยชน์ 2 ต่อ สำหรับตู้เก็บค่าผ่านทางนั้น กทพ.มีกว่า 1,000 ตู้ การพัฒนาออกแบบเพื่อให้รูปแบบเดียวกัน และใช้วัสดุในประเทศเช่นกัน
สำหรับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐานการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งนวัตกรรมที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาจะตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงที่จะช่วยพัฒนางานโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและการบริการของ กทพ.ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และยังเป็นการขานรับนโยบายภาครัฐ ในการนำยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบในประเทศมาใช้ให้เกิดประสิทธิผลในงานโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมอีกด้วย
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เอสซีจี เคมิคอลส์จะต่อยอดจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เรามีความเชี่ยวชาญ เช่น นวัตกรรมด้านวัสดุศาสตร์ การออกแบบเชิงวิศวกรรม และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยให้บริการในรูปแบบโซลูชัน ซึ่งเริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหาของลูกค้าแล้วนำมาพัฒนานวัตกรรมโดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าในทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ของลูกค้าอย่างแท้จริง
โดยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐานการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมมี 3 โครงการ ได้แก่ 1. หุ่นยนต์เพื่อการตรวจและรายงานสภาพโครงสร้างสิ่งปลูกสร้าง สะพาน ทางด่วน หรือทางพิเศษ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบที่ละเอียด แม่นยำ ตรวจการชำรุดได้เล็กถึง 0.1 มิลลิเมตร ด้วยกล้อง Super high definition เข้าถึงพื้นที่และตรวจสอบได้ด้วยระบบกล้องมองรอบด้าน 360 องศา และระบบการขับเคลื่อน 4-wheel drive เพื่อการปีนข้ามอุปสรรคบนเคเบิล ช่วยลดเวลาการตรวจ และทดแทนการทำงานของคนที่ต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง
2. การออกแบบกำแพงกันเสียงบนสะพานที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ โดยมียางพาราเป็นส่วนผสม ออกแบบให้รองรับหน้างานได้ทุกขนาดและสามารถใช้งานร่วมกับโครงสร้างที่หลากหลายเพื่อให้สามารถทดแทนกำแพงกั้นเสียงที่มีปัจจุบันได้ทั้งหมดด้วยคุณสมบัติที่ดีกว่าวัสดุที่ใช้ปัจจุบัน มีน้ำหนักเบา และใช้งานสะดวก ติดตั้งง่ายและรวดเร็ว
3. ตู้เก็บค่าผ่านทางที่ออกแบบพิเศษ โดยปรับปรุงให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ ผลิตจากพอลิเอทิลีน ขึ้นรูปด้วยเทคนิคพิเศษ สามารถดีไซน์รูปทรงให้ทันสมัย ทำความสะอาดง่าย และช่วยประหยัดพลังงาน เน้นการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในตู้ตามหลักสรีรวิทยาเพื่อสุขอนามัยที่ดีของพนักงาน เช่น การปรับมุมและความสูงของที่นั่งให้เหมาะสม จำกัดแสงสว่างและเสียงจากภายนอกให้อยู่ในระดับมาตรฐาน เป็นต้น